Business

ปตท. รุกกลุ่มธุรกิจใหม่ ‘Life Science’

ปตท. เดินเครื่องลุยธุรกิจใหม่ ในธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือ ธุรกิจ Life Science เพื่อช่วยเหลือรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 และเล็งเห็นแนวโน้มธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตจะเติบโตสูง

Life Science เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ New S-Curve ของ ปตท. ตามวิสัยทัศน์ใหม่ที่ว่า ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งชีวิต หรือ Powering Life with future energy and beyond ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ ปตท. วางยุทธศาสตร์ ที่ไกลกว่าพลังงาน

ธุรกิจ Life Science

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มธุรกิจ Life Science ถือว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ของ ปตท. ดำเนินธุรกิจด้าน ผลิตภัณฑ์ยา อุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ และการตรวจวินิจฉัยโรค รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ธุรกิจในแต่ละด้านมีความคืบหน้าไปมาก”

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากที่กลุ่ม ปตท. ได้เข้าไปสนับสนุน หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศ และดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชนในหลาย ๆ ด้านแล้ว ปตท. ยังมองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากประชาชนมีความตื่นตัวและใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น 

ธุรกิจ Life Science จึงจำเป็นต้องเดินเร็วกว่าปกติ ตรงนี้นอกจากจะเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจแล้ว ปตท. ยังมองว่าสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคม เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ และเรายังต้องการเป็นผู้ผลิตยาเพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ

ธุรกิจ Life Science
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปตท. ได้ตั้ง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อช่วงเดือน ธันวาคม 2563 เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ Life Science ให้เป็นรูปธรรม

กลุ่มธุรกิจ Life Science มุ่งไปที่ 3 ด้าน คือ

1. ธุรกิจยา (Pharmaceutical) ซึ่งเริ่มต้นจากการเข้าลงทุนในธุรกิจยาสามัญ (Generic Drug) เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาในราคาที่จับต้องได้ โดยเน้นที่กลุ่มยารักษาโรคมะเร็ง และโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน เป็นต้น และมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปในกลุ่มยาชีวภาพ (Biopharma)

2. วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Device) และ การตรวจวินิจฉัยโรค (Diagnostic) ซึ่งเริ่มต้นจากการเชื่อมโยงกับวัตถุดิบที่เป็นผลพลอยได้จากปิโตรเคมี เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย อีกทั้งมีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และการตรวจวินิจฉัยโรค ที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่

3. อาหารเพื่อสุขภาพ (Nutrition) ซึ่งรวมถึงอาหารเพื่ออนาคต (ฟิวเจอร์ฟู้ด) ซึ่งเกี่ยวกับการบริโภคสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อเป็นการป้องกันหรือรักษาโรคสำหรับคนทั่วไป ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ นับเป็น ความก้าวหน้าการดำเนินงานที่สำคัญของอินโนบิก (เอเซีย)

ที่ผ่านมา บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจในต่างประเทศ โดยได้ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท Lotus Pharmaceutiacal (Lotus Pharmaceutical Co., Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาสามัญชั้นนำ (Generics Pharmaceuticals) ในตลาดเกาหลี สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ธุรกิจ Life Science ตามทิศทางกลยุทธ์การขยายธุรกิจใหม่ New S-Curve 

ปตท.

“การร่วมทุนกับพันธมิตรในต่างประเทศนั้นส่งผลดีต่อสถานการณ์ช่วงนี้ เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ได้มาจากการที่ทาง บริษัท Lotus Pharmaceutical ช่วยประสานงานให้ ทาง อินโนบิก (เอเซีย) จึงสามารถมอบยาสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้” 

นายอรรถพล กล่าวว่ากรณีของ ยาฟาวิพิราเวียร์ ชี้ให้เห็นว่าหากไทยเป็นแหล่งผลิต ก็จะไม่มีปัญหาขาดแคลน ขณะนี้ ปตท. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อผลิตสารออกฤทธิ์ (Active Pharmaceutical Ingredient: API) ที่ใช้ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์

“โดยขณะนี้ สวทช. สามารถสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ฯ ของยาฟาวิพิราเวียร์สำเร็จแล้ว แต่การจะพัฒนาจากห้องทดลอง มาเป็นเชิงพาณิชย์ได้นั้น ต้องมีการบริหารจัดการ ต้องใช้เงินลงทุนเข้าไป เราจึงจับมือกับ 3 องค์กร องค์การเภสัชกรรม สวทช. และ ปตท. เพื่อจะอัพสเกลขึ้นมาให้สามารถผลิตสารออกฤทธิ์ฯ ของยาฟาวิพิราเวียร์ ได้ในเชิงพาณิชย์”

ธุรกิจ Life Science

นายอรรถพล กล่าวว่าความร่วมมือกับ สวทช. นั้น ปตท. จะมีลักษณะเป็นผู้ร่วมทุนและบริหารโครงการ ความร่วมมือน่าจะเป็นการร่วมทุน ซึ่ง สวทช. อาจใช้สิทธิบัตรเป็นตัวเงิน ส่วน ปตท. ลงเงิน ลงทุนในการสร้างโรงงาน ซึ่งต้องใช้ทางวิศวกรรมบริหารจัดการโครงการ ตรงนี้เป็นจุดแข็งของ ปตท.

“มาประสานจุดแข็ง เหมือนเราจับมือกับ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สร้างโรงงานยาต้านมะเร็งในประเทศ ตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโรงงาน และวิเคราะห์ต้นทุน ผ่านแล้วก็สร้างได้เลย”

นายอรรถพล กล่าวว่าธุรกิจตอนนี้ยังไม่ทำกำไร แต่ ปตท. ต้องการช่วยเหลือสังคมก่อน และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมบอกว่า ถ้าทำเองต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี กว่าจะเสร็จ แต่เมื่อมาจับมือกับ ปตท. ก็จะช่วยร่นระยะเวลาเหลือ 7-8 ปี ซึ่งจะทำให้คนไทยเข้าถึงยาต้านมะเร็งได้เร็วขึ้นถึง 5 ปี

PTT Mou

 

ธุรกิจด้านวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Device) บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ได้ร่วมกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 260 ล้านบาท โดย ไออาร์พีซี  ถือหุ้นสัดส่วน 60% และ อินโนบิก (เอเซีย) มีสัดส่วนการถือหุ้น 40% เพื่อผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ ด้วยวิธี Melt Blown เพื่อเป็นวัตถุหลักสำหรับทำหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ เป็นต้น สำหรับโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown จะตั้งอยู่ที่ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง คาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 

 

PTT MOU Melt Blown

สำหรับ ธุรกิจด้านอาหารเสริม หรือ ฟิวเจอร์ฟู้ด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และ บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด (บริษัทย่อยที่ NRF ถือหุ้น 100%) ถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากันจำนวน 50% เพื่อดำเนินธุรกิจ โปรตีนทางเลือก (PlantBased Protein) โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใช้ชื่อ Nutra Regenerative Protein หรือ NRPT แล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2564 ด้วย ทุนจดทะเบียนประมาณ 300 ล้านบาท

พร้อมจัดตั้งโรงงานผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนำเข้าชั้นสูงในไทย ด้วยกำลังการผลิต 3,000 ตัน ต่อปี รวมไปถึงการพัฒนาร้านค้าต้นแบบ คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2565 โดยระยะแรกจะเป็นการพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชแบบครบวงจร เพื่อเตรียมเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดจำหน่ายให้กับตลาดในภูมิภาคอาเซียน

PTT แพลนต์เบส คิก คิก รสลาบ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก (Plant-Based Protien ) โดย เท็กซัส ชิคเก้น และ NRPT ร่วมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ แพลนต์เบส หรือเนื้อสัตว์จากพืช เมนูใหม่จาก เท็กซัส ชิคเก้น ในชื่อเมนู แพลนต์เบส คิก คิก รสลาบ ผลิตจากพืช 100% ปราศจากเนื้อสัตว์ ต้อนรับเทศกาลกินเจในเดือนตุลาคม 2564

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ธุรกิจ Life Science เป็นส่วนหนึ่งของ ธุรกิจ New S-Curve เป็นธุรกิจที่ Beyond พลังงานของ ปตท. ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2030 หรืออีกราว 10 ปีข้างหน้า จะมี สัดส่วนกำไรสุทธิประมาณ 30% ของ ปตท.

กลุ่มธุรกิจใหม่ มี 5 กลุ่มด้วยกัน คือ ธุรกิจ Life Science โครงสร้างพื้นฐาน การต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปิโตรเคมี ธุรกิจไลฟ์สไตล์ ซึ่งให้ทางโออาร์ ดำเนินการ ธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI แต่ ธุรกิจ Life Science จะเดินเร็วกว่าปกติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo