Business

CEA ขานรับนโยบายจับกระแส ‘THAI DNA’ เดินหน้าเศรษฐกิจสร้างสรรค์

CEA เดินหน้านายกฯ ประกาศผลักดัน Soft Power ไทย สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ยกระดับ 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ไต่ขึ้นชั้นระดับโลก

จากการที่นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญต่อการผลักดัน Soft Power หรือการพัฒนา ทุนวัฒนธรรมและทุนความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และขยายศักยภาพสู่การส่งออกในระดับสากล

Cea2 e1632470633748

นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่กระแส Soft Power ได้กลับมาอีกครั้ง ซึ่ง Soft Power ได้ถูกใช้แนวคิดสำคัญเป็นนโยบายเศรษฐกิจ หรือ Creative Economy ของหลายประเทศ เพื่อเผยแพร่และขยายอิทธิพลทางวิถีชีวิต ประเพณี ตลอดจนรสนิยมในการบริโภคอุปโภค ผ่านตัวสินค้าและบริการที่ได้รับพัฒนา ผลิต และสื่อสาร ด้วยความคิดสร้างสรรค์ เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ แฟชั่น เกม อาหาร โดยปลายทางคือ การส่งออกสินค้าและบริการไปยังสากล

ที่ผ่านมา เราจึงเห็นนโยบาย Cool Japan ของญี่ปุ่น Great Britain ของสหราชอาณาจักร Creative Korea ของเกาหลี ซึ่งแต่ละประเทศ ล้วนหยิบจุดแข็งของวัฒนธรรมตนเอง เป็นแก่นสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน และขยายความต่อด้วยการวางกลยุทธ์การตลาดแบบ Oversea ที่แหลมคม Soft Power จึงเป็นเรื่องที่คนไทยคุ้นเคยและอยู่ในกระแสมาโดยตลอด ไล่เรียงมาตั้งแต่ วัฒนธรรมแบบฮอลลีวูด ของอเมริกัน การ์ตูนและมังงะของญี่ปุ่น แฟชั่นพังก์ร็อก แบบฝั่งอังกฤษ

แต่คลื่นความนิยมของเกาหลี นับเป็นสิ่งที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลก เพราะการวางแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ ที่สามารถเรียบเรียงเรื่องราวขององค์ประกอบความเป็นเกาหลี ในมิติต่าง ๆ และสื่อสารออกไปอย่างสร้างสรรค์และแนบเนียน จนเกิดเป็นการกระตุ้นความต้องการของตลาด ของคนในหลายเจเนเรชั่น พร้อมกัน

ประเทศไทยมีสินทรัพย์ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ ล้นเหลือ แต่เราจำเป็นต้องเฟ้นสินทรัพย์ที่เป็นจุดแข็งและมีการรับรู้ในตลาดสากล เพื่อก้าวกระโดดไปต่อได้

“จุดสำคัญของสิ่งที่ทุกประเทศผลักดัน Soft Power ก็คือการหยิบเอา DNA ของชาติ มาเป็นไอคอนสำคัญ และขยายความออกไปผ่านความสามารถของนักสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยมีสินทรัพย์ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ ล้นเหลือ แต่เราจำเป็นต้องเฟ้นสินทรัพย์ที่เป็นจุดแข็งและมีการรับรู้ในตลาดสากล เพื่อก้าวกระโดดไปต่อได้ เช่น อาหารไทย เทศกาลท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ธุรกิจยาว มีแรงงานที่มีทักษะ มีความพร้อมของภาคเอกชนรองรับ และมีความต้องการของตลาดสูง”

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราวางกลยุทธ์ ให้ อาหารเป็นตัวนำ สามารถทำกิจกรรมทางตรงคือ การส่งเสริมความนิยมของอาหารไทย เชฟไทย ร้านอาหารไทย วัตถุดิบไทยเพื่อเชื่อมไปแหล่งเกษตรกรรม หรือ กิจกรรมส่งเสริมทางอ้อมที่สื่อสารผ่านเรื่องราวของซีรีย์หรือภาพยนตร์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่หลาย ๆ ประเทศดำเนินอยู่

S 10551317

อย่างไรก็ตาม นโยบาย Creative Economy ของหลายประเทศ นอกจากการมุ่งเน้นสร้างและผลักดัน เอกลักษณ์ หรือ DNA ของชาติผ่านสินค้าและบริการ จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ ระบบนิเวศน์สร้างสรรค์ ควบคู่กันไปด้วย ตั้งแต่ การบ่มเพาะเยาวชนสร้างสรรค์ การเปิดพื้นที่ทดลอง/แสดงผลงานสร้างสรรค์ มาตรการกฎหมาย กฎระเบียบที่คล่องตัวและไม่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ การส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ เช่น การวิจัยพฤติกรรมและการรับรู้ของผู้บริโภคต่างประเทศ

“ปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ คน หรือ Creative Talent ซึ่งเป็นเจ้าของความคิดสร้างสรรค์ เจ้าของความสามารถและทักษะ เราได้เห็นความพยายามฝึกฝนและทุ่มเทอย่างหนัก ของ ศิลปิน แต่ละคน กว่าที่จะมี ลิซ่า 1 คน หรือ BTS 1 วง ถือเป็นการลงทุนทั้งกำลังกาย กำลังใจ และ กำลังทรัพยากร ของตัวศิลปิน ทีมงาน และต้นสังกัดที่เป็นภาคเอกชน”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทาเลนท์ จำเป็นต้องมีการลงทุนบ่มเพาะในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างกลไกที่เอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์ม ทั้งเชิงกายภาพและออนไลน์ เพื่อแสดงผลงาน มาตรการลดหย่อนทางภาษี โดยเฉพาะ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนให้เอกชนขับเคลื่อนในระดับธุรกิจ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผลงานและความสามารถของนักสร้างสรรค์ ก้าวกระโดดสู่เวทีสากลได้

ผลักดัน Soft Power ศักยภาพสร้างสรรค์ไทย ก้าวที่ท้าทาย

ปัจจุบัน แม้ว่า เราจะเห็นนักสร้างสรรค์ไทย เติบโตในเวทีระดับโลก ทั้งวงการภาพยนตร์ งานศิลปะ สถาปัตยกรรม แต่ต้องยอมรับว่า เป็นความสามารถในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นก้าวแห่งการปูทางให้นักสร้างสรรค์ไทย ได้เป็นที่รู้จักในเวทีสากล ซึ่งการผลิตและส่งเสริมผลงานสร้างสรรค์ จำเป็นต้องวางทิศทางให้สอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์โลก

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใน 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ Creative People Creative Business และ Creative City ให้เป็นหน่วยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้ง 15 สาขา ได้แก่

  • งานฝีมือและหัตถกรรม
  • ดนตรี
  • ศิลปะการแสดง
  • ทัศนศิลป์
  • ภาพยนตร์
  • การแพร่ภาพและกระจายเสียง
  • การพิมพ์
  • ซอฟต์แวร์
  • การโฆษณา
  • การออกแบบ
  • การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม
  • แฟชั่น
  • อาหารไทย
  • การแพทย์แผนไทย
  • การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

S 112443395 1

ผ่านการทำงานกับเครือข่ายสมาคมวิชาชีพ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของธุรกิจ มากกว่าการจัดทำโปรแกรมส่งเสริมนักสร้างสรรค์ทั้งพื้นที่กรุงเทพ และ ภูมิภาค ตลอดจนการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ปัจจุบัน CEA สามารถจัดทำระบบข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ครบถ้วนของประเทศไทยได้สำเร็จ จากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เพื่อเกิดแหล่งข้อมูลสถิติสำคัญในการบ่งชี้การพัฒนา และการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

จากการรวบรวบข้อมูล พบว่าในปี 2562 นั้น 15 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1.54 ล้านล้านบาท มีมูลค่า GDP ของประเทศเป็นสัดส่วน 9.13% โดย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มากสุดได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2. อาหารไทย 3. โฆษณา 4. แฟชั่น และ 5. การออกแบบ

สำหรับมูลค่าเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2564-2565 คาดการณ์ว่า น่าจะมีอัตราการเติบโตในแนวทางเดียวกับ GDP ประเทศ โดยอัตราการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative GDP) ของประเทศเป็นสัดส่วน 0.70% และ ปี 2565 สัดส่วน 3.70% ตามลำดับการฟื้นตัว ซึ่งจากสถิติดังกล่าว จะเห็นว่า เรายังมีโอกาสที่จะพัฒนาขีดความสามารถของไทยให้ก้าวขึ้นไปมีพื้นที่ระดับสากลได้อย่างแน่นอน

ขณที่ CEA ได้ร่วมกับ 9 องค์กรอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างเครือข่ายและยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมเดินหน้าจัดกิจกรรม CEA: Creative Industries Program นำพลัง Soft Power และความคิดสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านอุตสาหกรรมดนตรี ซีรีส์วาย เกม หนังสือ โฆษณาและศิลปะ ระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ ได้แบ่งการจัดกิจกรรมออกเป็นกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรม (Creative Originals) เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ และ กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content and Media) เช่นภาพยนตร์ การกระจายเสียง การพิมพ์และซอฟต์แวร์ คาดการณ์ภายในปี 2565 จะครอบคลุมทั้งหมด 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

“อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 15 สาขาของไทยนั้น มีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสในการพัฒนา ซึ่ง CEA ได้จัดทำ roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาไว้ โดยเป็นการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเสียงจากสมาคมวิชาชีพ นักสร้างสรรค์ เพื่อนำมุมมองและความต้องการของภาคธุรกิจ มาขยายผลในการสร้างเครื่องมือ และรูปแบบโครงการที่รองรับการพัฒนา”

สิ่งที่เราเห็นความสำคัญของภาพรวมของทุกสาขา คือ การพัฒนา Thailand Content ให้มีความโดดเด่น และชัดเจนในการสื่อพลังนี้ออกไปผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ซึ่งที่มา 5 F ประกอบด้วย

  • อาหาร (Food)
  • ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film)
  • ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion)
  •  มวยไทย (Fighting)
  • การอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival)

แต่ปัจจุบันและอนาคต พลวัตรของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อความท้าทาย เช่น ตลาด NFT เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ สถานการณ์โควิด ก็เปลี่ยนพฤติกรรมคนเช่นกัน

ดังนั้น การพัฒนา Thailand Content ที่อยู่บนชุดองค์ความรู้ใหม่ และการศึกษาวิจัยตลาดใหม่ ๆ จะทำให้ การพัฒนาแก่นแท้ของ Soft Power ไทย นั้นแข็งแกร่ง และเป็นใจความสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo