Business

วีซ่าแบบใหม่ ‘ผู้พำนักระยะยาว’ จัดเต็มสิทธิประโยชน์ จูงใจต่างชาติ 4 กลุ่ม

รัฐบาล จ่อออกวีซ่าประเภทใหม่ “ผู้พำนักระยะยาว” ดึงดูดต่างชาติศักยภาพสูง 4 กลุ่ม พำนักระยะยาวในไทย พร้อมสิทธิประโยชน์จูงใจ กระตุ้นการใช้จ่าย-ลงทุน 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (14 กันยายน 2564) ครม. มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง พำนักระยะยาว ในประเทศไทย ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

ผู้พำนักระยะยาว

ทั้งนี้ เป็นมาตรการที่จะดึงดูดชาวต่างชาติ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง หรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ 4 กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 1 ล้านคน คือ

1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่นคั่งสูง (Wealthy Global Citizen)

2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจะต่างประเทศ (Wealthy Pensioner)

3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand Professional)

4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skill Professional)

สำหรับ 4 กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว จะเน้นให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะ ผู้พำนักระยะยาว (Long-term Stay) โดยได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุน ในระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

วีซ่า

มาตรการดังกล่าว จะต้องดำเนินการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident #VISA) ซึ่งเป็นการกำหนดวีซ่าประเภทใหม่ เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง และต้องการเป็นผู้พำนักอาศัยในระยะยาว โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ

  • การยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภท ผู้พำนักอาศัยระยะยาวและวีซ่าประเภท Smart visa ทั้งหมดไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน
  • ให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า
  • ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกันด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สศช. หารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป อาทิ การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างเช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน การบริหารจัดการการทำงาน และอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานให้นายจ้าง ทั้งที่อยู่ในและนอกราชอาณาจักรได้ การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน การยกเว้นภาษีประเภทต่าง ๆ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo