Business

เปิดเสรีพืชกระท่อม แต่ยังห้ามจำหน่าย ‘สมศักดิ์’ ชงปลดล็อกผลิตขายได้

“สมศักดิ์” แจงชัด การใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม เผย ครอบครอง ขายใบสด น้ำต้มกิน แจกจ่ายได้ ยกเว้นทำอาหาร น้ำสมุนไพรเพื่อจำหน่าย ยังผิดกฎหมาย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากรัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 8 โดยถอดพืชกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5  แล้วนั้น แต่ยังมีหลายคนสงสัย เกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมว่าสามารถทำในส่วนใดได้บ้าง

พืชกระท่อม

นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ในส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและการขายใบสดที่ไม่ได้ปรุง หรือทำเป็นอาหารทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย

แต่การนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่แจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่

นอกจากนี้ การนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหาร หรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้

ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย

เสพกระท่อม ไม่ผิดกฎหมาย

“แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้ การฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร ที่ พ.ร.บ. อาหาร ห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน – 2 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท”นายสมศักดิ์ กล่าว

ชง สธ. ปลดล็อกเพิ่ม พืชกระท่อม

ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ จากพืชกระท่อมได้อย่างเต็มที่

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงสมควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ จากพืชกระท่อมเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางได้

“เรื่องนี้เป็นอุปสรรคในการค้าขายแบบชาวบ้าน ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งตนเป็น ประธานฯ ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะส่งให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ประกาศยังไม่ถูกแก้ไข หากผู้ประกอบการที่อยากจะพัฒนาต่อยอดเพื่อสกัด หรือแปรรูปพืชกระท่อม เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือยาแผนโบราณ สามารถขอคำแนะนำหรือติดต่อได้ที่ กองควบคุมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo