Business

ไขข้อข้องใจ ภาษี e-Service คืออะไร ใครต้องจ่ายบ้าง หลังมีผล 1 กันยายน 64

ภาษี e-Service เริ่มบังคับใช้แล้ว 1 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศ ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มาดูกันว่าใครต้องเสียภาษีนี้กันบ้าง

ประเทศไทย ประกาศ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.บ. e-Service เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ทำให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กรมสรรพากร

ภาษี e-Service

ภาษี e-Service เป็นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) และอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยถ้ามียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องนำส่ง VAT ให้กรมสรรพากร ซึ่งปัจจุบันคิดอัตรา 7% ของราคาค่าบริการ

การจัดเก็บภาษีดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบการไทย กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยต้องยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% มาตลอด ต่างจากผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ยังไม่ถูกจัดเก็บภาษี เพราะยังไม่มีการบังคับใช้กฏหมายกับกลุ่มดังกล่าวมาก่อน

ทั้งนี้ กฏหมายดังกล่าว จึงออกมาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และทำให้สามารถจัดเก็บภาษีเข้าประเทศได้เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

ใครต้องเสียภาษี e-Service บ้าง

  • ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์ เช่น Amazon, Alibaba
  • ธุรกิจให้บริการพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Google
  • ธุรกิจให้บริการจองโรงแรมที่พักและการเดินทาง เช่น Agoda, Booking, Airbnb
  • ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย เช่น บริการเรียกรถรับ-ส่ง, ขนส่ง
  • ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนัง-ฟังเพลงออนไลน์ เล่นเกม และแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Netflix, Disney, Youtube, IQIYI, Spotify, App Store, Play Store, Zoom, Slack

e service

เงื่อนไขผู้เสียภาษี

  • มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
  • ยังไม่ได้จดทะเบียน VAT
  • ต้องจดทะเบียนและดำเนินการทางภาษีผ่านระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

ล่าสุด กรมสรรพากร โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “กรมสรรพากร : The Revenue Department” แจ้งว่า กรมสรรพากรพร้อมเก็บภาษี e-Service โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป พร้อมให้ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียน และดำเนินการทางภาษีผ่านระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES)

VES

𝗩𝗘𝗦 คืออะไร

VES หรือ VAT for Electronic Service เป็นระบบที่กรมสรรพากรได้จัดทำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ e-Service จากต่างประเทศ ซึ่งสามารถทำธุรกรรมภาษีต่าง ๆ ในระบบนี้ได้ โดยสามารถจดทะเบียนผ่านระบบ VES คลิก https://bit.ly/VESregistrations

3 Step ง่ายผ่านระบบ VES

Step 1 จดทะเบียน

จดทะเบียนผ่านระบบ VES คลิก https://bit.ly/VESregistrations โดยผู้ประกอบการ ต้องจัดเตรียมเอกสารเพื่อใช้ในการจดทะเบียน หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท (ภาษาอังกฤษ) ระบุปีที่ก่อตั้ง และประเทศที่ก่อตั้ง

Step 2 ยื่นแบบ

เมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (P.P. 30.9) ทุกเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 – 23 ของเดือนถัดไป บนระบบ VES ผ่าน www.rd.go.th

Step 3 ชำระภาษี

ชำระภาษีภายในวันที่ 1-23 ของเดือนที่ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (P.P. 30.9) สามารถชำระภาษีได้ 2 ช่อง ได้แก่ โอนเข้าบัญชีเงินฝากของกรมสรรพากรโดยตรง หรือบัตรเครดิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo