Business

รฟม.ลุยประมูลรอบใหม่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ต.ค.นี้

รฟม. แถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้องคดีละเมิดล้มประมูลสายสีส้ม เดินหน้าไปต่อประมูลรอบใหม่ ต.ค.นี้

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชน ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ในคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดี อ้างว่าการกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่

LINE ALBUM รถไฟฟ้า 210901

โดยมีเหตุผลว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ศาลปกครองไม่อาจมีคำสั่งกำหนดคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรืองดเว้นกระทำการที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นได้

ประเด็นเรื่องความคืบหน้าการฟ้องคดีทั้งหมดเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สรุปได้ว่า ปัจจุบันมีการฟ้องคดีรวมจำนวน 3 คดี แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 เป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 1 คดี คือคดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564 คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม

รฟม. e1630493616515

 

ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการเพิกถอนหลักเกณฑ์อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอีกต่อไป คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่ไม่รับคำฟ้องข้อหาเกี่ยวกับการการกระทำละเมิด และคำขอห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่ ไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. ตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในครั้งใหม่อีกต่อไป คดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางยังอยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องยังไม่ได้รับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแต่อย่างใด

จากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดนั้น รฟม.เล็งเห็นว่า คดีที่เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกในครั้งแรกถือว่า สิ้นสุดลง ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้จำหน่ายคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว และคดีฟ้องการคัดเลือกครั้งใหม่ ก็ได้ข้อยุติสิ้นสุด ศาลปกรองสูงสุดก็ตัดสินไม่รับฟ้อง ทำให้ รฟม.สามารถเริ่มดำเนินการประกวดราคาต่อไปได้ โดย รฟม.ได้กำหนดการนัดประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 36 ในเดือนกันยายนนี้ เพื่อพิจารณาเอกสารประกวดราคา (TOR)

รฟม.ได้กำหนดการนัดประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 36 ในเดือนกันยายนนี้ เพื่อพิจารณาเอกสารประกวดราคา (TOR)

หลังจากนั้นเดือนตุลาคม จะขายซองเอกสาร ให้เวลาเอกชนจัดทำข้อเสนอประมาณ 90 วัน  เปิดให้ยื่นข้อเสนอในช่วงเดือนมกราคม 2565 คาดว่าจะใช้เวลาประเมินข้อเสนอ และเจรจาต่อรองกับเอกชนที่ยื่นข้อเสนอเป็นประโยชน์กับ รฟม.และโครงการประมาณ 3 เดือน จากนั้นเสนอคณะรัฐนมตรี (ครม.) เห็นชอบผลการประกวดราคาในเดือนเมษายน 2565

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight