Business

สปสช. อัดฉีดเพิ่ม 10 บาท หน่วยบริการช่วยกระจายชุดตรวจ ATK ถึงมือประชาชน

บอร์ด สปสช. จ่ายค่าบริการเพิ่มให้หน่วยบริการ 10 บาทต่อครั้ง ช่วยกระจายชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนใช้ตรวจโควิดด้วยตัวเอง พร้อมให้คำแนะนำการใช้ ติดตามผล พาเข้าระบบรักษากรณีติดเชื้อ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 9/2564 มีมติเห็นชอบ จ่ายค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับการกระจายชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) หรือชุดตรวจ ATK ให้กับหน่วยบริการ เพื่อกระจายหรือแจกไปยังประชาชน ให้ตรวจโควิดด้วยตนเอง

ชุดตรวจ ATK

ก่อนหน้านี้ บอร์ด สปสช. ได้มีมติเพิ่มชุดตรวจโควิด ATK วงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท ในแผนการจัดหาภายใต้โครงการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2564 และจ่ายให้แก่เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ (เครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี) ดำเนินการจัดหา เพื่อสนับสนุนชุดตรวจให้แก่หน่วยบริการในเครือข่ายและประชาชนนั้น

อย่างไรก็ตาม วงเงินดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะค่าอุปกรณ์ชุดตรวจ ดังนั้น เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับหน่วยบริการ หรือสถานพยาบาล บอร์ด สปสช.จึงมีมติจ่ายค่าบริการเพิ่มเติม สำหรับกระจายชุดตรวจโควิด ATK ไปยังประชาชน ในอัตรา 10 บาทต่อครั้งบริการ ภายใต้วงเงิน 85 ล้านบาท จากงบค่าบริการโควิด-19 ซึ่งจะเริ่มจ่ายหลังจากกระจายชุดตรวจไปยังประชาชนแล้ว

ทั้งนี้ อัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะครอบคลุมกิจกรรมบริการ ได้แก่

1. การขอ Authentication code หรือการยืนยันตัวตนของประชาชนก่อนรับแจกชุดตรวจโควิด ATK ตามแนวทางที่ สปสช.กำหนด

2. ให้คำแนะนำในการใช้ชุดตรวจ

3. ติดตามผลตรวจ ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด

4. กรณีผู้ติดเชื้อ จัดระบบให้เข้าสู่การดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือที่ชุมชน (Community Isolation : CI)

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

ส่วนวิธีการกระจายชุดตรวจนั้น อยู่ระหว่างการจัดทำ เบื้องต้น จะกระจายผ่านหน่วยบริการไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล รพ.สต.ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยา หรือแม้แต่การส่งทางไปรษณีย์หรือให้ Rider ขับไปส่ง โดยเน้นในพื้นที่สีแดงที่มีการระบาดมาก ๆ ก่อน

“หากตรวจแล้วผลเป็นบวก ประชาชนจะต้องติดต่อกลับมาให้หน่วยบริการดังกล่าว พาเข้าระบบ Home Isolation ดังนั้น เราจึงมีงบประมาณสนับสนุนให้ เนื่องจากหน่วยบริการจะมีภาระงานเพิ่ม” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นอกจากนี้ บอร์ดสปสช. ยังมีมติเห็นชอบปรับการจ่ายชดเชยบริการสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เนื่องจากข้อมูลของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า ที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคไตที่ติดเชื้อโควิด-19 และต้องรับบริการล้างไตด้วยการฟอกเลือดนั้น มีปัญหาไม่สามารถเข้ารับบริการฟอกเลือดได้

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อ สปสช. เพื่อขอจ่ายชดเชยเพิ่มเติม ได้แก่ 1. ชุดตัวกรองเลือดแบบใช้ครั้งเดียว 2. อุปกรณ์ป้องกันฯ (PPE) สำหรับบุคลากร 3. ค่าบุคลากรการดูแลผู้ป่วยฯ

shutterstock 1691579581

บอร์ด สปสช. จึงได้พิจารณา และเห็นชอบหลักการ ให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องรับบริการฟอกเลือดทุกราย เข้ารับบริการแบบผู้ป่วยใน (IPD) เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต โดยจะเบิกจ่ายจากงบค่าบริการโควิด-19

ส่วนกรณีที่หน่วยบริการไม่สามารถให้บริการแบบผู้ป่วยในได้ สปสช.จะมีการปรับการจ่ายต่าง ๆ ได้แก่

1. แยกค่าใช้จ่ายสำหรับตัวกรอง รวมถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆ แบบใช้ครั้งเดียว (Single use) ออกจากรายการค่าใช้จ่ายปกติ โดยเสนอเพิ่มรายการในแผน และวงเงินการจัดหาฯ ปี 2564 และต่อเนื่องไปปี 2565 เพื่อให้เครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถี จัดหาและกระจายไปยังหน่วยบริการ

2. เพิ่มการจ่ายค่าชุดอุปกรณ์ป้องกันฯ (PPE) สำหรับบุคลากร

3. เพิ่มการจ่ายค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย รวมค่าทำความสะอาด นอกจากนี้ยังจะมีการทบทวนระเบียบ หรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน เพื่อเพิ่มจำนวนหน่วยร่วมให้บริการล้างไตด้วยการฟอกเลือดให้มากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo