Business

เกษตรกรยิ้มออก เคาะ ‘ประกันรายได้’ ปี 3 พร้อมเงินช่วยเหลือเพิ่ม เช็คเงื่อนไขที่นี่

ประกันรายได้ ปี 3 คณะอนุกรรมการข้าวฯ เคาะหลักเกณฑ์เดิม พร้อมงัดมาตรการคู่ขนาน เตรียมชง นบข. และ ครม. พิจารณา หลังโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 ช่วยเกษตรกรทั้งสิ้น 7.67 ล้านครัวเรือน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ครั้งที่ 1/2564 ได้ให้ความเห็นชอบเบื้องต้น เดินหน้านโยบาย ประกันรายได้ ปี 3 โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับ โครงการปี 2 และจะมีการนำเสนอขอความเห็นชอบ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ประกันรายได้ ปี 3

สำหรับเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนได้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 ตุลาคม 2564 และภาคใต้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยการจ่ายเงินส่วนต่าง จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-28 กุมภาพันธ์ 2565 ส่วนภาคใต้จะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2565

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคู่ขนาน ที่จะเข้ามาช่วยเสริม เพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 3 มาตรการ ดังนี้

1. สนับสนุนให้เกษตรกรชะลอการขาย ในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวราคาตกจนเกินไป โดยเกษตรกรที่ชะลอขายข้าว จะได้รับเงินช่วยเหลือตันละ 1,500 บาท

2. ช่วยเหลือดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสหกรณ์ หรือสีโรงสีที่เก็บสต็อกข้าว และไม่ปล่อยออกสู่ตลาด โดยชดเชยดอกเบี้ย 3%

3. เร่งรัดส่งเสริมการส่งออกข้าว เพื่อระบายข้าวในประเทศ เพราะฤดูการผลิตหน้า จะมีข้าวออกสู่ตลาดมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 26 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ให้มีการส่งออกข้าว โดยช่วยดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 6 เดือน ในเดือนต.ค.2564 ถึงมี.ค.2565

จุรินทร์ 1 e1627542050953
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ส่วนผลการดำเนินโครงการปี 2 มีการจ่ายเงินส่วนต่างสูงสุด สำหรับข้าว 5 ชนิด ดังนี้

  • ข้าวหอมมะลิจ่ายเงินชดเชยสูงสุด 42,830 บาทต่อครัวเรือน
  • ข้าวหอมนอกพื้นที่ จ่ายสูงสุด 41,680 บาทต่อครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกเจ้า จ่ายสูงสุด 36,670 บาทต่อครัวเรือน
  • ข้าวหอมปทุมธานี จ่ายสูงสุด 26,674 บาทต่อครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกเหนียว จ่ายสูงสุด 33,350 บาทต่อครัวเรือน

ในการดำเนินโครงการประกันรายได้ปี 2 สามารถช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีรายได้ช่วงราคาผลผลิตต่ำกว่าราคาที่ประกันรายได้ โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 7.67 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น

  • เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.5 ล้านครัวเรือน
  • ยางพารา 1.78 ล้านครัวเรือน
  • มันสำปะหลัง 5.2 แสนครัวเรือน
  • ปาล์มน้ำมัน 3.7 แสนครัวเรือน
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.5 แสนครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้กรมการค้าต่างประเทศ เร่งเจรจาขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับจีน ซึ่งยังมีความตกลงซื้อขายข้าวค้างการซื้ออยู่ 280,000 ตัน โดยขอให้เจรจากับจีน เพื่อให้ซื้อข้าวครบตามที่ได้ตกลงไว้โดยเร็วที่สุด

“ถ้าเป็นไปได้ช่วงเวลานี้ อยากขอให้จีนช่วยซื้อข้าวหอมมะลิเพิ่มเติม เพราะราคาข้าวหอมมะลิของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยก่อนหน้านี้ ที่เซ็นสัญญากับจีนไว้ 20,000 ตัน ได้มีการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว”นายจุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ราคาประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด มีดังนี้

  • ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,000 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท
  • ยางแผ่นดิบกิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท
  • ราคาน้ำยางสด กก.ละ 57 บาท
  • ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท
  • มันสำปะหลัง กก.ละ 2.50 บาท
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 8.50 บาท
  • ปาล์มน้ำมัน กก.ละ 4 บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo