Business

วิกฤติแรงงานติดเชื้อ จ้างงานลด กระทบภาคการผลิต ส.อ.ท. แนะรัฐอุดหนุนจ้างงาน เร่งฉีดวัคซีน

โควิดพ่นพิษภาคการผลิต วิกฤติแรงงานติดเชื้อ ขาดแคลน ต้องลดกำลังการผลิต หวั่นกระทบส่งออกเป็นลูกโซ่ วอนรัฐช่วยจ้างงานภาคอุตสาหกรรม ขยายโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ เร่งฉีดวัคซีนแรงงานในระบบ

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 8 ในเดือนกรกฎาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “การจัดการปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19” พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ มองสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งปัญหาวิกฤติแรงงานติดเชื้อ รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก

วิกฤติแรงงานติดเชื้อ

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 166 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า อัตราการจ้างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดนั้น ส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถคงอัตราการจ้างงานเท่าเดิม คิดเป็นสัดส่วน 53.6% มีการจ้างงานลดลง 10-20% คิดเป็น 31.3% มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 10-20% คิดเป็น 10.3% และมีการจ้างงานลดลงมากว่า 50% คิดเป็น 4.8%

ด้านผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่า โรงงานอุตสาหกรรมบางส่วน ต้องลดกำลังการผลิตลงน้อยกว่า 30% คิดเป็นสัดส่วน 45.2% ขณะที่ โรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบคิดเป็น 26.5% และมีโรงงานที่กำลังการผลิตลดลง 30-50% คิดเป็น 20.5% ส่วนโรงงานที่กำลังการผลิตลดลงมากกว่า 50% คิดเป็น 7.8%

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. แรงงานบางส่วนต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค หรือกักตัว รวมทั้งการปิดโรงงานชั่วคราวตามข้อกำหนด คิดเป็น 51.8% 2. สถานประกอบการไม่สามารถหาแรงงานสัญชาติไทยได้เพียงพอต่อความต้องการ คิดเป็น 49.4% และ 3. มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของแรงงานข้ามจังหวัดคิดเป็น 41.6%

02

 

แนะมาตรการรัฐกู้วิกฤติแรงงานติดเชื้อ

มาตรการที่ภาครัฐควรนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม มีดังนี้

  • การสนับสนุนเงินอุดหนุนในการจ้างแรงงานไทย และขยายโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ คิดเป็น 50%
  • การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมทดแทนการใช้แรงงาน คิดเป็น 48.8%
  • การอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU เฉพาะแรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว มีการทำประกันสุขภาพ และต้องผ่านการกักตัว 14 วัน เข้ามาทำงาน คิดเป็น 45.8%

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐจะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ควรมีการเตรียมความพร้อม ทั้งระบบคัดกรอง ติดตาม และประเมินสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว การจัดตั้งศูนย์ One Stop Service สำหรับนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว และการปรับลดขั้นตอนเอกสารที่ไม่จำเป็น และปรับใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ มากขึ้น

202002111516 ภาพ A คุณวิรัตน์เอื้อนฤมิตceoไทยออยล์ 3 1
วิรัตน์ เอื้อนฤมิต

ส่วนมาตรการช่วยเหลือ และเยียวยาแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การเร่งจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดให้แรงงาน ม.33 คิดเป็น 92.8% รองลงมา การสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลแรงงานที่ติดเชื้อ และสนับสนุนยา อาหาร และเวชภัณฑ์ให้แก่แรงงานที่ติดเชื้อในการรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) คิดเป็น 69.9% และการลดเงินสมทบประกันสังคมเหลือ 1% ถึงสิ้นปี 2564 คิดเป็น 66.9%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo