Business

ธุรกิจอสังหาฯ บริการ จ่อคิวเข้ามาตรการ ‘พักทรัพย์พักหนี้’ รอภาษีชัดเจน

มาตรการ พักทรัพย์พักหนี้ ธุรกิจโรงพยาบาล สปา โรงแรม จ่อเข้าโครงการเพียบ รอความชัดเจนภาษีโอน ล่าสุดมียอดอนุมัติการเข้าร่วมโครงการแล้ว 959 ล้านบาท 

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมานา “เอสเอ็มอีไทยไปต่ออย่างไร ด้วยกลไกความช่วยเหลือของ ธปท.-แบงก์รัฐ” ว่า ความคืบหน้าของมาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้ ปัจจุบันมียอดอนุมัติการเข้าร่วมโครงการแล้ว 959 ล้านบาท คิดเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 14 ราย

พักทรัพย์พักหนี้

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายราย ที่อยู่ระหว่างการติดต่อกับสถาบันการเงิน และเตรียมอนุมัติ เพื่อเข้าร่วมมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้อีกจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังรอความชัดเจนของมาตรการภาษี สนับสนุนการโอนทรัพย์สินหลักทรัพย์เพื่อชำระหนี้ ตามมาตรการดังกล่าว โดยเชื่อว่ามีความชัดเจนเรื่องนี้จะมีสถาบันการเงินยื่นเรื่อง เพื่อขออนุมัติเข้ามาตรการจำนวนมาก

ในส่วนของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในการประคับประคองกิจการ รักษาการจ้างงาน เอื้อให้ธุรกิจฟื้นกิจการได้ไว ได้มีการอนุมัติสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว 72,391.7 ล้านบาท คิดเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือ 23,687 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย อยู่ที่ 3.1 ล้านบาทต่อราย

ทั้งนี้ การอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟู มีการกระจายตัวไปยังกลุ่มผู้ประกอบการเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของขนาด ประเภทธุรกิจและภูมิภาค โดยมีธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ 44.5% ขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจพาณิชย์และบริการ ได้รับสินเชื่อสูงถึง 67.6% และยังพบว่าผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อส่วนใหญ่กว่า 68.5% เป็นลูกหนี้ที่อยู่ในต่างจังหวัด

ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ กรมสรรพากร น่าจะประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการภาษี สนับสนุนการโอนทรัพย์สินหลักทรัพย์เพื่อชำระหนี้ ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้

พักทรัพย์

หากสิทธิประโยชน์ทางภาษีในส่วนนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้ยอดการขออนุมัติตามโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาทยอยเข้าสู่มาตรการเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเข้าร่วมมาตรการ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาคารพาณิช โรงพยาบาล สปา และโรงงานแปรรูปต่าง ๆ

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีการออกแบบอย่างยืดหยุ่น โดยเฉพาะระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการที่กำหนดไว้ยาวถึง 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2564 – 9 เม.ย. 2566 แต่หากสถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น ก็สามารถขยายระยะเวลาออกไปได้อีก 1 ปี และยังสามารถขยายระยะเวลาการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ได้เพิ่มจาก 5 ปีด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo