Business

วันสุดท้าย! ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.90-ภ.ง.ด.91 เฉพาะยื่นออนไลน์ เช็คสิทธิลดหย่อนด่วน!

ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.90-ภ.ง.ด.91 วันนี้วันสุดท้าย เฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น กรมสรรพากร แนะรีบยื่นแบบให้ทัน พร้อมระบุสิทธิลดหย่อน อาจไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม เช็คสิทธิลดหย่อน ที่นี่

วันนี้ (30 มิถุนายน 2564) เป็นวันสุดท้ายของการ ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.90-ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2563 เฉพาะการยื่นแบบฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ กรมสรรพากร เตือนรีบยื่นในเวลาที่กำหนด หักสิทธิลดหย่อนแล้ว อาจไม่ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะ พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ อย่าลืมหักค่าใช้จ่ายจากการประกอบกิจการ

ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้

กระทรวงการคลัง โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station” ระบุว่า

ใครที่มีเงินได้ในปีภาษี 2563 ให้ยื่น ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ออนไลน์ภายใน 30 มิถุนายน 2564

​​สรรพากร แจ้งให้ผู้มีรายได้ในปีภาษี 2563 ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.90 ออนไลน์ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ ขอให้ยื่นแบบ แต่อาจไม่ต้องเสียภาษี เพราะทุกคนมีสิทธิ์หักค่าใช้จ่าย จากการประกอบกิจการ และหักค่าลดหย่อนได้อีกหลายรายการ

ส่วนการส่งจดหมายเตือน เป็นอีกหนึ่งบริการ ที่แจ้งให้ผู้เสียภาษีทราบ จะได้มีเวลาเพียงพอ ในการจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน นำมาใช้ยื่นแบบได้ทันเวลา

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชน และผู้ประกอบการ ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ชำระภาษี ที่ยังไม่ได้ยื่นแบบ ทราบถึงระยะเวลาหมดเขต การยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ทางออนไลน์ ที่ได้มีการขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ ต้องยื่นแบบให้ทัน เนื่องจากหากยื่นแบบล่าช้ากว่าที่กำหนดนั้น จะมีภาระค่าปรับ และเงินเพิ่มเกิดขึ้น ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อย

กรมสรรพากร จึงได้ดำเนินการจัดส่งเอกสารต่าง ๆ แจ้งไปถึงผู้ประกอบการล่วงหน้า (notification letter) โดยไม่ได้มีเป้าหมายในการจัดเก็บภาษี เฉพาะรายใดรายหนึ่ง หรือโครงการใดโครงการหนึ่ง แต่เพื่อสร้างความเป็นธรรม ให้กับผู้เสียภาษีทุกคน จะได้เตรียมข้อมูลเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน

ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้

โดยผู้ประกอบการ(คนโสด) ที่มีรายได้ต่อปีถึงเกณฑ์ขั้นต่ำจำนวน 60,001 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีทุกราย ส่วนยื่นแบบฯ แล้วอาจไม่ต้องเสียภาษี เพราะได้สิทธิหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พ่อค้าแม่ค้า ที่ขายสินค้าออนไลน์ หรือสินค้าทั่วไป มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 525,049 บาท มีหน้าที่ยื่นแบบ แต่เมื่อคำนวณแล้วไม่มีภาษีต้องเสีย เป็นต้น

“กรมสรรพากร ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และไม่อยากให้เกิดกรณีที่ประขาชนต้องเสียค่าปรับ เนื่องมาจากยื่นแบบเกินกำหนดเวลา เพราะจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช่นนี้”

นางสมหมาย กล่าว

สิทธิลดหย่อน ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.90-ภ.ง.ด.91

  • รายการลดหย่อนภาษีส่วนตัว และครอบครัว

1. ลดหย่อนภาษีส่วนตัว ลดหย่อนได้ 60,000 บาททันที โดยไม่มีเงื่อนไข

2. ลดหย่อนภาษีคู่สมรส ลดหย่อนได้ 60,000 บาท โดยต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้

3. ลดหย่อนภาษีบุตร ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท เฉพาะบุตรอายุไม่เกิน 20 ปี หรือไม่เกิน 25 ปีและกำลังเรียนอยู่ แต่ในกรณีลูกคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

4. ลดหย่อนภาษีบิดามารดา ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท โดยใช้สิทธิ์ซ้ำระหว่างพี่น้องไม่ได้

5. ลดหย่อนภาษีผู้พิการ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยผู้ลดหย่อนภาษีต้องเป็นผู้ดูแลที่ระบุอยู่ในบัตรคนพิการเท่านั้น

6. ค่าฝากครรภ์และทำคลอด ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท โดยครอบคลุมทั้งค่าฝากครรภ์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล

ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้

รายการลดหย่อนภาษี ด้วยเบี้ยประกัน

1. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป รวมถึงประกันแบบสะสมทรัพย์ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันต้องคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

2. เบี้ยประกันสุขภาพตัวเอง เบี้ยประกันสุขภาพ รวมถึงเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

3. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และสามารถรวมประกันสุขภาพพ่อแม่ ของคู่สมรส มาลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้

4. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี และต้องไม่เกิน 200,000 บาท หรือต้องไม่เกิน 300,000 บาท หากไม่มีการลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกันชีวิต และเมื่อรวมกับหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

  • รายการลดหย่อนภาษี ด้วยกองทุน

1. กองทุนประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,850 บาท (จากเดิมไม่เกิน 9,000 บาท)

2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

3. กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

4. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

5. กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท (ซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2563) โดยไม่ต้องรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

6. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 13,200 ต่อปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้

  • รายการลดหย่อนภาษี ด้วยเงินบริจาค

1. เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน

2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน

3. เงินบริจาคพรรคการเมือง ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

  • รายการลดหย่อนภาษี 2563 ด้วยมาตรการรัฐ

1. ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหรือคอนโด สามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับธนาคารมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท

2. มาตรการช้อปดีมีคืน สามารถลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 สำหรับการซื้อสินค้าและบริการ ผ่านผู้ประกอบการที่จดทะเบียน ตามจำนวนที่มีการจ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 (สินค้าที่ไม่เข้าร่วม ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, ยาสูบ, สลากกินแบ่งรัฐบาล, น้ำมัน, ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน)

3. ลดหย่อนภาษีโครงการบ้านหลังแรก ผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 ในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท ก็ยังใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุดปีละไม่เกิน 120,000 บาทได้ โดยจะใช้ได้จนถึงปีภาษี 2563 (ขึ้นอยู่กับปีที่ซื้อบ้าน)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo