Business

คนไทยบน ‘ทวิตเตอร์’ คุยอะไรกัน อาวุธแบรนด์ เข้าถึงผู้บริโภค

คนไทยบนทวิตเตอร์ คุยอะไรกัน เจาะลึกบทสนทนาที่แบรนด์ต้องรู้ ทวิตเตอร์เผยงานวิจัยพบ 4 วัฒนธรรมการพูดคุยที่ทรงพลัง บนทวิตเตอร์ประเทศไทย ทำการตลาด เข้าถึงผู้บริโภค

ทวิตเตอร์ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนเข้ามาพูดคุยและคอนเน็คกัน ทำให้เกิดชุมชนต่าง ๆ และผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในบทสนทนาอย่างต่อเนื่อง คนไทยบนทวิตเตอร์ เข้ามาเพื่ออัปเดตว่ามีอะไรที่กำลังเกิดขึ้น #WhatsHappening ตลอดจนเข้าร่วมบทสนทนาในหัวข้อที่หลากหลาย

คนไทยบนทวิตเตอร์

บทสนทนา ถือเป็นหัวใจของทวิตเตอร์ จะเห็นได้ว่า เพียงทวีตเดียว ก็สามารถสร้างอิมแพ็คไปในวงกว้างได้ ทวิตเตอร์จึงได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาลงลึกในกว่า 64,000 ทวีตบนทวิตเตอร์ประเทศไทย เพื่อค้นหาพลังของทวีตและชาวทวิตภพ ว่ามีวิธีกำหนดวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างไร ผ่านชุมชน และบทสนทนา

นายมาร์ติน ยูเรน หัวหน้าแผนกงานวิจัย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกของทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า เป้าหมายของทวิตเตอร์ตั้งแต่แรกเริ่ม คือ การได้ทราบถึงมุมมองที่ถูกต้องแม่นยำ ในบทสนทนาของคนไทยบนทวิตเตอร์

สิ่งที่ค้นพบคือ บทสนทนาของคนไทย มีความหลากหลาย และมีชีวิตชีวา ผลจากงานวิจัยของทวิตเตอร์แสดงให้เห็นว่า หัวข้อในการสนทนา มีการทับซ้อนกันอย่างน่าสนใจ จนทำให้เกิดเป็นธีมทางวัฒนธรรมหลัก 4 รูปแบบ ซึ่งจะช่วยให้คนไทยมีความเข้าใจชุมชนที่หลากหลายบนทวิตเตอร์ได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก ให้กับแบรนด์ไทยและต่างชาติ ได้ทราบถึงหัวข้อ และธีมของการสนทนา อันเป็นเอกลักษณ์บนทวิตเตอร์ ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

คนไทยบนทวิตเตอร์ พูดตุย 4 รูปแบบ

 

1. บันทึกส่วนตัว

การพูดคุยในชีวิตประจำวัน ความรักและความสัมพันธ์ และการสะท้อนมุมมองความคิด โดยธีมวัฒนธรรมการพูดคุยนี้ นับได้ว่ามีพื้นที่บนทวิตเตอร์มากที่สุดโดยมีสัดส่วนถึง 45% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมด บนทวิตเตอร์ประเทศไทย และเป็นหัวข้อที่ผู้คนเข้ามาร่วมพูดคุยในชีวิตประจำวัน โดยมีการแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับกิจวัตรการเดินทาง และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของตัวเอง

นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัย ในการที่ผู้คนบอกเล่าเรื่องจริงจากใจ และทวีตเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ ทั้งในเรื่องของข้อบกพร่องของตัวเอง ความปรารถนาต่างๆ และการมีช่วงเวลาที่ดี กับคนสำคัญของพวกเขา

ชาวทวิตภพ มักจะแชร์ปัญหาที่พบเจอในแต่ละวัน ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองความคิดต่าง ๆ ซึ่งเรื่องราวที่เอามาแชร์ อาจจะเป็นแค่เรื่องของการปวดเมื่อยร่างกายเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น อาการปวดหัว หรืออาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จนถึง การชอบแสดงความคิดเห็น ในเรื่องของสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนจนแทบทนไม่ไหว และอยากให้ฤดูฝนมาถึงไวๆ

2 Personal Musings m

 

2. เชื่อมต่อกับคนคอเดียวกัน

ทวิตเตอร์ได้กลายเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อชีวิตของคนไทย จากงานวิจัยพบว่า การเชื่อมต่อกับคนคอเดียวกันมีสัดส่วนอยู่ที่ 35% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมด บนทวิตเตอร์ประเทศไทย คนไทยได้ใช้ทวิตเตอร์อย่างกระตือรือร้น เพื่อให้มีการเชื่อมต่อกับชุมชนของเขาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเพื่อเป็นการอัปเดต #WhatsHappening ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

จากผลสำรวจพบว่า คนไทยมักจะทวีตเกี่ยวกับหลากหลายเหตุการณ์ปัจจุบัน อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เรื่องโควิด-19 สกุลเงินคริปโต ไปจนถึงการเมืองในประเทศและในแถบภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี กีฬา อาหาร หรือการช้อปปิ้ง ชาวทวิตภพ มักจะแชร์แพสชั่น ที่มีต่อหัวข้อเรื่องดังกล่าว ทั้งเรื่องของความงาม อาหาร ร้านอาหาร และเทรนด์แฟชั่นล่าสุด

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ ทวิตเตอร์ คือ สถานที่ในการขายสินค้าได้เป็นอย่างดี อาทิ อาหารพวกโฮมคุ้กกิ้ง ขนมหวาน เสื้อผ้า สินค้าจากบรรดาแฟนด้อมและงานฝีมือ คนไทยสามารถทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นตลาดนัดออนไลน์ ที่พวกเขาสามารถทำได้ทั้งนำเสนอสินค้าและแสดงความคิดสร้างสรรค์บนทวิตเตอร์

3 Community and Connection m

 

3. สิ่งสวยงามที่ดีต่อใจ

บทสนทนารูปแบบนี้มีสัดส่วน 16% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมด บนทวิตเตอร์ประเทศไทย ชาวทวิตภพ จะทวีตข้อความเกี่ยวกับความสนใจที่มีร่วมกัน ซึ่งสามารถสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ใช้งานคนอื่นๆ ด้วยการทำ แกลอรี่ศิลปะ เหมือนเวลาที่ทำอัลบั้มรูปภาพหรือการทำหนังสือ scrapbook เพราะคนที่ใช้ทวิตเตอร์ ชอบแชร์ สถานที่สวย ๆ หรือสิ่งของที่สวยงามในชีวิตประจำวัน

คนดังและแฟนด้อม ก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อของบทสนทนายอดนิยม ซึ่งเป็นการสนทนาที่สนุกสนานและมีสีสันเป็นอย่างมาก การทวีตถึงศิลปิน K-Pop โดยเฉพาะศิลปินชาวไทยอย่างแบบแบม (@BamBam1A) และ #Lisa จากวงแบล็กพิงค์ (@BLACKPINK) จนถึงศิลปินในประเทศอย่างเป๊ก ผลิตโชค(@peckpalit), วง 4EVE (@4eveOfficial) เรียกได้ว่าคนไทยนั้นเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเซเล็บดาราไทยที่แท้จริง

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะยังคงอยู่และสร้างความยากลำบากให้กับหลาย ๆ คน ทวิตเตอร์ยังเห็นว่า คนไทยมีความหวังและความฝัน ซึ่งเห็นได้จากธีมหลักของบทสนทนา ที่ผู้ใช้งานจะทวีตถึงความหลังในอดีต ถึงทริปที่เคยไปเที่ยว และการเข้าไปมีส่วนร่วม ในการเข้าไปเม้นต์ถามคนอื่นๆ ว่า “หลังหมดโควิดแล้ววางแผนจะไปเที่ยวที่ไหน”

คนไทยบนทวิตเตอร์

 

 

4.การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้าง

การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้าง คิดเป็นสัดส่วน 4% ของบทสนทนาทั้งหมด โดยใจความของบทสนทนาในธีมนี้ มุ่งสร้างแรงจูงใจ และแรงบันดาลใจในการแสดงด้านที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา

ในอีกด้านทวิตเตอร์ก็เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ของการเฉลิมฉลอง ชาวทวิตภพมีความภูมิใจในการแบ่งปันความสุข และเฉลิมฉลองในทุกเหตุการณ์ อาทิ งานฉลองสำเร็จการศึกษา การได้เกรดดีๆ วันเกิด หรือ การฉลองครบรอบ ฯลฯ

5 Betterment and Aspiration m

แบรนด์จะเชื่อมต่อกับแต่ละคอมมูนิตี้ และบทสนทนาได้อย่างไร

ด้วยบทสนทนา 10 หัวข้อ ที่เป็นตัวกำหนดธีมทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ 4 รูปแบบของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในประเทศไทย ทำให้เห็นว่า ยังมีพื้นที่ว่างมากมายมหาศาลบนทวิตเตอร์ ที่รอให้แบรนด์เข้าไปเชื่อมต่อ และสามารถสร้างความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรม กับกลุ่มเป้าหมายได้

ดังนั้นโอกาสกำลังรออยู่ ซึ่งตอนนี้แบรนด์ต้องมาถึงทางแยก ที่ต้องเลือกว่า จะยังคงเดินหน้าต่อไปบนถนนที่ราบเรียบ ทางเดินง่ายๆ กับผลลัพธ์ที่ลดน้อยถอยลง หรือจะเลือกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ ด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมในบทสนทนากับชาวทวิตภพ

แบรนด์ยุคใหม่ จะลงทุนในการเรียนรู้ถึงประเภทต่าง ๆ ของคอมมูนิตี้ชุมชน และบทสนทนาบนทวิตเตอร์ และเข้าไปสร้างความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรม กับกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ ในแบบที่จริงแท้มากยิ่งขึ้น จนสามารถสร้างผลลัพธ์ได้ดีในที่สุด

“หลายแบรนด์เริ่มต้นวางแผนการทำการตลาด ด้วยแนวคิดที่คิดไปก่อนล่วงหน้า เช่น ทวิตเตอร์เป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ แต่ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ที่หลากหลาย สำหรับผู้คนที่หลากหลายแตกต่างกัน และหลายแบรนด์ก็เริ่มที่จะเข้าใจในจุดนี้ ทวิตเตอร์จึงเป็นแหล่งข้อมูล ที่แบรนด์สามารถเข้ามาศึกษา เพื่อช่วยให้เข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น” นายมาร์ติน ยูเรน กล่าวเสริม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo