Business

ขาดทุนครั้งละ 8,000 บาท! รพ.ร้อง สปสช. ทบทวนค่าตรวจเพทซีที ผู้ป่วยมะเร็ง บัตรทอง

รพ. ร้อง สปสช. ทบทวนค่าตรวจเพทซีที ผู้ป่วยมะเร็ง สิทธิบัตรทอง สุดแบกรับ ค่าตรวจที่ สปสช.จ่าย ขาดทุนครั้งละ 8,000 บาท วอนทบทวนภายใน 6 เดือน พร้อมให้บริการเช่นเดิม จนกว่าจะแบกรับภาระทางการเงินไม่ไหว

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย รศ.นพ.วิศิษฏ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาขาดไทย รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และ นพ.กิตติพงศ์ เรียบร้อย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ร่วมลงนามในแถลงการณ์ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ UHosNet เรื่อง สิทธิประโยชน์การตรวจทางรังสีวิทยาเพทซีที (PET/CT) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยระบุว่า

2509 pet scan

ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ การตรวจทางรังสีวิทยาเพทซีที (PET/CT) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ทางเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ขอแจ้งมายังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ป่วย และประชาขน ดังนี้

1. เครือข่ายฯ สนับสนุนการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการตรวจเพทซีที (PET/CT) ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงราคาแพง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการประเมินระยะของโรคมะเร็งได้ทันการ ส่งผลต่อผลการรักษาที่ดีขึ้น

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ

2. อัตราค่าชดเชยการตรวจเพทชีที (PET/CT) ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดนั้น ต่ำกว่าต้นทุนของโรงพยาบาลอย่างมาก ส่งผลให้โรงพยาบาลจะขาดทุนเฉลี่ย 8,000 บาทต่อการตรวจ 1 ครั้ง

อย่างไรก็ดี ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้ป่วย และเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับผลกระทบหรือต้องร่วมจ่าย โรงพยาบาลในเครือข่ายฯ จะยังคงเปิดบริการเพทซีที (PET/CT) ให้แก่ผู้ป่วยในระบบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปก่อนระยะหนึ่ง จนกว่าโรงพยาบาลจะไม่สามารถแบกรับภาระทางการเงินได้

3. เครือช่ายฯ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปฏิบัติตามมติที่จะทบทวนอัตราค่าตรวจเพทซีที (PET/CT) ที่เป็นธรรมกว่านี้ภายใน 6 เดือน เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน ไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ที่โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระการเงิน ในการดูแลผู้ป่วยระบบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน

เครือข่ายรพ.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo