Business

ยื่นเสียภาษี ประจำปี 2563 ล่าช้า ไม่ทันตามกำหนด ที่นี่มีคำตอบ พร้อมวิธีเตรียมตัวยื่นภาษี

ยื่นภาษี 2563 โค้งสุดท้ายถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 สำหรับยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต แล้วถ้ายื่นไม่ทัน หรือยื่นล่าช้า ต้องทำอย่างไร เสียค่าปรับเท่าไร ที่นี่มีคำตอบ พร้อมวิธีเตรียมตัวยื่นภาษี

กรมสรรพากร ขยายระยะเวลา ยื่นภาษี 2563 สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของปีภาษี 2563 (แบบ ภ.ง.ด.90 แบบ ภ.ง.ด.91) ที่เดิมต้องยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เฉพาะแบบที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ยื่นภาษี 2563

กรณี ยื่นภาษี 2563 ล่าช้า ไม่ครบ

หากบุคคลใด ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด แต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือยื่นแบบภาษีล่าช้า ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบภาษี จะต้องเสียเงินเพิ่ม และเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ไม่ยอมชำระจะต้องรับโทษทางอาญาด้วย บทลงโทษ มีดังนี้

  • ไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
  • หากเจ้าพนักงานตรวจสอบ ออกหมายเรียก และปรากฏว่า ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้ หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้ แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ แล้วแต่กรณี โดยเงินเบี้ยปรับดังกล่าว อาจลด หรืองดได้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรี
  • ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  • จงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยง การเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
  • เจตนาละเลย ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภาษี ภาษีที่ดิน ๒๑๐๖๑๗ 1

กรณี ยื่นภาษีไม่ทัน เตรียมเอกสารด่วน

หากยื่นแบบภาษีไม่ทันตามกำหนด ผู้เสียภาษีต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น โดยไม่สามารถยื่นแบบภาษีทางออนไลน์ได้ ซึ่งต้องเตรียมเอกสารไปยื่น ดังนี้

  • แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่ จ่าย (50 ทวิ)
  • เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03) หรือเอกสารยืนยันสิทธิ ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ (ใบ ล.ย. 04) ฯลฯ
  • เตรียมเงิน เพื่อจ่ายภาษีส่วนที่ค้าง รวมทั้งอาจต้องจ่ายค่าปรับ

นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำ สำหรับการเตรียมตัว เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ซึ่งไม่เฉพาะสำหรับปีนี้ แต่ใช้ได้สำหรับการเตรียมความพร้อม ปีต่อ ๆ ไป ดังนี้

1. ซื้อประกันชีวิต และประกันสุขภาพ

การซื้อประกันสุขภาพ นอกจากจะคุ้มครองความเสี่ยงแล้ว เบี้ยประกันชีวิต ยังช่วยลดหย่อนภาษี รวมกับเบี้ยประกันสุขภาพได้ สูงสุดถึง 100,000 บาท และลดหย่อนภาษี จากประกันชีวิตแบบบำนาญ อีกสูงสุด 200,000 บาท

2. ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF หรือสมทบทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในบริษัทที่ทำงานอยู่ นอกจากจะเป็นเงินเก็บ ที่มีโอกาสได้กำไรแล้ว ยังใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)

ยื่นภาษี 2563

3. ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม

กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็นกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะมาแทนกองทุน LTF โดยกองทุน SSF ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)

4. ซื้อบ้านและคอนโด
ดอกเบี้ย ในการผ่อนบ้าน-คอนโด ที่เสียทั้งปี สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดถึง 100,000 บาท

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลสำหรับ การยื่นเสียภาษี ที่มีหลายคน อาจยื่นไม่ทัน หรือยื่นล่าช้า จะได้รู้ว่า ต้องเตรียมตัว และเตรียมเอกสารอย่างไร รวมถึงเพื่อการวางแผน สำหรับเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปีถัด ๆ ไป เพื่อให้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้อย่างคุ้มค่า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo