Auto

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ไม่สะท้านพิษโควิด คาดยอดผู้ใช้ในไทย แตะล้านคันปี 2571

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า โตสวนทางเศรษฐกิจ โควิดไม่กระทบ กรุงไทย คาดยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย พุ่งแตะล้านคันในปี 2571 ขึ้นเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด ตามทิศทางบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่น

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก จนเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่สำหรับ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า กลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ สะท้อนได้จาก ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ที่สูงถึง 3.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 43% เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มียอดจดทะเบียนสูงถึง 3 หมื่นคัน หรือขยายตัวถึง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สวนทางยอดขายรถยนต์รวม ที่ลดลง 21%

นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นการตื่นตัว จากภาครัฐในต่างประเทศ ในการแก้ไขประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ตามข้อตกลงปารีส โดยเฉพาะนโยบายยกเลิกการขาย ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ควบคู่ไปกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า อย่างเป็นรูปธรรม

เช่นเดียวกับการปรับตัว ของผู้ผลิตชั้นนำ ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่หันไปทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ตลอดจนความสนใจของผู้บริโภค เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยขับเคลื่อน ให้จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลก มีโอกาสแตะระดับ 25-45 ล้านคันได้ภายในปี 2573 จาก 10 ล้านคันในปัจจุบัน

ด้าน ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย มียอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่เพียง 1.9 แสนคัน หรือคิดเป็น 1% ของยานยนต์ทั้งหมด ถือว่ายังมีขนาดเล็ก และอยู่ในช่วงเริ่มต้น เมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่น ๆ

กรุงไทย

อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบของไทย ในการเป็นฐานผลิตยานยนต์เครื่องยนต์ ICE แบบดั้งเดิม มาอย่างยาวนาน ประกอบกับ กลยุทธ์การทำตลาดของผู้ผลิตยานยนต์ OEM ในประเทศ ที่ยังคงเน้นทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด ตามบริษัทแม่ในญี่ปุ่น

ปัจจัยดังกล่าว จะเป็นส่วนเสริมให้ ยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศ มีโอกาสแตะ 1 ล้านคันได้ในปี 2571 หรือขยายตัวเฉลี่ยราว 24% ต่อปี จากยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 93% ของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย มองว่า มาตรการภาครัฐ ที่สนับสนุนทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค จะเป็นส่วนสำคัญให้ อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย มีโอกาสต่อยอดเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด ที่แข็งแกร่งของภูมิภาค ในอนาคตต่อไป

นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า การเป็นฐานผลิต ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดของไทย นอกจากจะช่วยรักษาตลาด ผู้ผลิตในกลุ่มเครื่องยนต์ ICE ในประเทศ รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ในระยะปานกลางแล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตวัสดุน้ำหนักเบาและแข็งแรงอีกด้วย

นอกจากนี้ ในระยะยาวที่สัดส่วนยานยนต์ ปราศจากการปล่อยมลพิษ (Zero Emission Vehicle) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ตามกระแสเมกะเทรนด์ ที่กำลังเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด (Green Economy) ย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Powertrain และ Engine ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 20% ของรายได้ของผู้ผลิตชิ้นส่วนในตลาดทั้งหมด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo