Business

‘สุพัฒนพงษ์’ สรุปชัดทุกเรื่อง มาตรการเยียวยาธุรกิจ ฝ่าโควิด-19 ห่วงท่องเที่ยว

“สุพัฒนพงษ์” สรุปทุกเรื่อง มาตรการเยียวยาธุรกิจ บรรเทาผลกระทบโควิด-19 หลังหารือหอการค้าไทย หน่วยงานเศรษฐกิจ รับห่วงภาคท่องเที่ยว เร่งหามาตรการกระตุ้น พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ถึงการหารือร่วมกับ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมรับห่วงภาคท่องเที่ยว ดึงสภาพัฒน์หารือเอกชน หามาตรการกระตุ้น โดยระบุว่า

สุพัฒนพงษ์

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ผมได้ประชุมเรื่อง แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 กับ คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีข้อสรุป ดังนี้ครับ

1. เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

ตอนนี้ทางหอการค้าไทย กำลังเร่งดำเนินนโยบาย Connect the Dots ภารกิจ 99 วันแรกใน 3 ประเด็น ได้แก่ การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ

โดยภารกิจเรื่องการฉีดวัคซีน ได้มีความคืบหน้าไปมาก และกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมต้องขอขอบคุณหอการค้าไทย และภาคเอกชน ที่ได้เป็นกำลังสำคัญ ในการดำเนินงานเรื่องนี้

2. ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ทางหอการค้าไทยเห็นว่า ผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะรายเล็ก ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และบางรายต้องพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึง Soft Loan ของภาครัฐได้

หอการค้าไทยและเครือข่าย จึงได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในลักษณะโครงการ Sand Box ต้นแบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง KBANK กับ CRC เพื่อสนับสนุนให้ SME รายย่อยที่เป็นคู่ค้ากับผู้ประกอบการค้าปลีก สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง ครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับปรุง และขยายธุรกิจ

3. ปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ ในการดำเนินธุรกิจ

เยียวยาโควิด

มาตรการเสริมสภาพคล่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME แบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

3.1 การลดระยะเวลา Credit Term ให้แก่คู่ค้าของบริษัท โดยรายย่อย (เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน บุคคล) เหลือ 7-15 วัน และรายกลาง 30 วัน

3.2. Digital Factoring Platform ให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยในเฟสแรกซึ่งเป็น Sand Box ต้นแบบ มีผู้สนใจ 6,000 ราย ได้รับอนุมัติ 1,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะขยายผลผ่านสมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และเครือข่ายในระยะต่อไป ตั้งเป้าหมาย SME เข้าร่วม 5 แสนรายทั่วประเทศ รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน

 

สำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) ซึ่งเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่ลูกหนี้ที่มีหลักทรัพย์ หรือหลักประกัน ให้ไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต ได้ขอการพิจารณาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการขยายมาตรการให้ครอบคลุม รวมถึงเงินให้กู้เพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เช่น 30% ของหนี้เดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลักประกันเดิม หรือนำหลักประกันใหม่ มาวางประกันเพิ่ม

ทางด้านแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในภาคท่องเที่ยวและบริการ หอการค้าไทย กำลังดำเนินโครงการฮักไทย เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และเตรียมเปิดเมืองเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ชูจุดเด่น กิน เที่ยว ใช้ โดยนำร่อง Phuket Sandbox : HUG THAIS HUG PHUKET ร่วมกับ ททท. สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมโรงแรม สมาคมสายการบิน สมาคมร้านอาหาร

ส่วนประเด็นสุดท้าย ที่ได้มีการหารือกัน คือ เรื่อง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ (Ease of Doing Business) ซึ่งมีความคืบหน้าทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สะดวกมากขึ้น (Easier) รวดเร็วขึ้น (Faster) และภาระค่าใช้จ่ายลดลง (Cheaper)

นอกจากนี้ หอการค้าไทย กำลังผลักดันการปรับปรุงกฎเกณฑ์ และแก้ไขผลกระทบ จากการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงแรมฯ และการเปลี่ยนแปลงการใช้งานอาคารโรงแรม เป็นอาคารสำหรับกิจการประเภทอื่น ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และทีมปรับปรุงกฎหมาย เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการประกอบธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยครับ

ท่องเที่ยวเหงา ๒๑๐๖๑๑

นอกจากเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมยังมีเรื่องที่เป็นห่วงอีกหนึ่งเรื่อง นั่นคือ การท่องเที่ยว ภายหลังการฉีดวัคซีนแล้ว ว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมมาตรการ Co-Payment ในภาคท่องเที่ยวและบริการ

ผมจึงได้ให้สภาพัฒน์ เข้ามาร่วมหารือกับภาคเอกชน ในการหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะต้องช่วยกันคิดให้รอบคอบ เช่น การระบุตัวตนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะใช้เกณฑ์การพิจารณาอย่างไร เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น มีทั้งที่อยู่ในระบบ และนอกระบบ ซึ่งผู้ที่อยู่นอกระบบ จะดำเนินการได้ยากมาก แต่ก็พยายามหาหนทางกับเรื่องเหล่านี้ โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และสถาบันการเงินต่าง ๆ ด้วยครับ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo