Business

ค้าปลีก สภาพคล่องเหลือไม่ถึง 6 เดือน ลดจ้างงานกว่า 25% วอนเข้าถึงสินเชื่อด่วน!

ค้าปลีก สภาพคล่องเหลือไม่ถึง 6 เดือน โอดพิษโควิดรอบ 3 ยอดขายหดหาย ต้องลดการจ้างงานมากกว่า 25% จี้รัฐเยียวยา เร่งเข้าถึงสินเชื่อ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการค้าปลีก และการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทย ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า จากวิกฤติโควิด ระลอก 3 ส่งผลให้ ค้าปลีก สภาพคล่องเหลือไม่ถึง 6 เดือน ยอดขายหดหาย ดัชนีความเชื่อมั่นลด ผู้บริโภคระวังการจับจ่าย ต้องลดการจ้างงาน

ค้าปลีก สภาพคล่องเหลือไม่ถึง 6 เดือน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย ในทุกภาคส่วนของทั้งค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการซึ่งได้ดำเนินเป็นประจำทุกเดือน โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ห้า ของปี 2564 เป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-25 พฤษภาคม 2564 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยร้านค้าปลีกสินค้าหลากหลายทั่วประเทศ

ค้าปลีก สภาพคล่องเหลือไม่ถึง 6 เดือน

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกรวม (Retail Sentiment Index) เดือนพฤษภาคม ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนเมษายนและยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 มาก สอดคล้องกับภาวะการค้าปลีกที่แย่ลงตามการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกสามที่รุนแรงขึ้น สะท้อนถึงความกังวล ต่อแผนการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ที่ภาครัฐประกาศที่จะอัดฉีดเพิ่มเติมที่ยังไม่ชัดเจน

2. ดัชนีความเชื่อมั่นรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกสาม เดือนพฤษภาคม 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับ การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกสอง เดือนมกราคม 2564 ปรากฏว่าดัชนีเดือนพฤษภาคม 2564 ลดต่ำกว่า ในเดือนมกราคม 2564

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนถึงความไม่มั่นใจ ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยข้อกังวลถึงความยืดเยื้อ ของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกนี้ อาจจะยาวนานกว่าระลอกสองมาก

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิม เดือนพฤษภาคม Same Store Sale Growth (SSSG) มีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากข้อมูลยอดขายสาขาเดิมเดือนพฤษภาคมลดลงมากกว่า 30-50% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนและเดือนมีนาคม ตามลำดับ

ทั้งนี้ เป็นการลดลงทั้งยอดซื้อต่อบิล (Spending per Bill or Basket Size) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping) ผู้ประกอบการกังวลถึงกำลังซื้อที่ลดลง และยังไม่ฟื้นตัวดี รวมถึงมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวัง ในการไปจับจ่ายที่ร้านค้า

ค้าปลัก

4. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิม เมื่อจำแนกตามรายภูมิภาค ปรากฏว่าปรับลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลง โดยเฉพาะภูมิภาคกรุงเทพ ปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ลดลงอย่างชัดเจน

5. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีก เปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤษภาคมและเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า ลดลงอย่างชัดเจนและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก โดยเฉพาะลดลงอย่างชัดเจน ในร้านค้าประเภทสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า

6. สำหรับร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์ท ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ผู้บริโภคมีความกังวลที่จะยืดเยื้อ ส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อ เป็นแบบกักตุนสินค้ามากขึ้น และมุ่งใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้มูลค่าการซื้อต่อครั้ง Per Spending หรือ Per Basket เพิ่มขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง

7. สำหรับร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง และซ่อมบำรุง น่าจะเป็นร้านค้าประเภทเดียว ที่ดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ต่อเนื่อง ทั้งนี้จากราคาเหล็กที่เป็นปัจจัยพื้นที่ในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น และมีข่าวว่าภาครัฐจะมีมาตรการมาควบคุม ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างอื่น ที่กำลังปรับราคาตามราคาเหล็กที่สูงขึ้น ต้องสะดุด

อย่างไรก็ตาม ร้านค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง ยังคงได้รับแรงหนุนจากวิถี New Normal ทำงานที่บ้าน WFH อย่างต่อเนื่อง

ค้าปลีก1

8. ประเด็นพิเศษ “การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อ การจ้างงานและสภาพคล่องต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ”

8.1 ผู้ประกอบการกว่า 29% ระบุว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25% การบริหารจัดการต้องปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงานรวมถึงลดค่าธรรมเนียมการขาย เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด

8.2 ผู้ประกอบการ 41% ระบุว่า มีการลดการจ้างงานมากกว่า 25% แล้ว ส่วนอีก 38% บอกว่า จะพยายามคงสภาวะการจ้างงานเดิมแต่คงไม่ได้นาน

8.3 ผู้ประกอบการ 39% ระบุว่า มีสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนบริหารจัดการได้ไม่เกิน 6 เดือน ในจำนวนนี้ 8% บอกว่า มีสภาพคล่องเหลือเพียงแค่ 1-3 เดือน

8.4 มาตรการกระตุ้นการจับจ่าย “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ผู้ประกอบการ 56% คาดหมายว่า อาจจะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ 38% คาดหมายว่า ยอดขายคงเดิมเพราะกลไกการใช้จ่ายซับซ้อน ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ ที่นิยมจับจ่ายด้วยเครดิตการ์ด ได้ใช้เพิ่มเติมจาก G-Wallet

ข้อเสนอต่อภาครัฐ

1. เร่งรัดแผนกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในการจับจ่ายผู้บริโภค

2. เร่งรัดมาตรการเยียวยา ช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% แก่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามประกาศภาครัฐ

3. เร่งรัดธนาคารพาณิชย์ประสานงานกับห้างค้าปลีก พิจารณาสินเชื่อซอฟต์โลน แก่คู่ค้า-ซัพพลายเออร์ระดับ ไมโคร เอสเอ็มอี ตามโมเดล แซนด์บ็อกซ์ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

4. เสนอให้ปรับแต่งกลไก เอื้อให้ผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” สามารถใช้เครดิตการ์ด จับจ่ายเพิ่มเติมจาก G-Wallet ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ นิยมที่จะจับจ่ายสินค้าด้วยเครดิตการ์ด มากกว่าเงินสด

สมาคมฯ ขอตอกย้ำและกระตุ้นภาครัฐ ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการ เรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการภาษี ลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว รวมทั้งมาตรการการกระตุ้นการบริโภค ที่ตรงเป้าเข้าใจพฤติกรรม ในการจับจ่ายของผู้บริโภค

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo