Business

เปิดที่มา ‘วันไมซ์แห่งชาติ’ ทำไมต้องเป็นวันที่ 26 เมษายน

คลอดแล้ว วันไมซ์แห่งชาติ ครม. ประกาศเห็นชอบเป็นวันที่ 26 เมษายน ของทุกปี ยึดตามการเกิดงานแสดงสินค้าครั้งแรก ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2425

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้วันที่ 26 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ” หรือ วันไมซ์แห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงคุณค่า และความสำคัญ ของอุตสาหกรรมไมซ์ โดยยึดตามการเกิดงานแสดงสินค้าครั้งแรก ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2425

วันไมซ์แห่งชาติ

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้กำหนดวันของอุตสาหกรรมไมซ์ขึ้นมา เรียกว่า “วันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ” โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ ทีเส็บ ร่วมดำเนินงานกับ กองทุนส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ

ทั้งนี้ การจัดแสดงสินค้าครั้งแรกของชาติ จัดขึ้นวันที่ 26 เมษายน 2425 ด้วยพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมสินค้าไทยจากทั่วประเทศ และที่สำคัญคือ จัดขึ้นกลางท้องสนามหลวง เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองพระนครร้อยปี จึงนับว่าเป็นวันสำคัญ เพราะแม้จะผ่านมาเกือบ 140 ปี งานแสดงสินค้าทุกวันนี้ ก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน

สำหรับการกำหนดวันสำคัญของชาติ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ จะช่วยเพิ่มความตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญ ของอุตสาหกรรมไมซ์ ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ มาอย่างยาวนานนับแต่อดีต แม้ในปัจจุบันการจัดประชุม การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ ก็เป็นหนึ่งในกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาล

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีการใช้กิจกรรมไมซ์ ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของชาติ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุค คือ

  • ช่วงฟื้นฟูประเทศในตอนต้นรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3) เป็นการประชุมและแสดงสินค้าเพื่อฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ
  • ช่วงสยามสู่เวทีโลก (สมัยรัชกาลที่ 4 – สมัยรัชกาลที่ 8) เป็นปฐมบทสู่เวทีโลก ใช้การจัดประชุมและการแสดงสินค้าเพื่อความภาคภูมิ และปูทางสู่การแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศ
  • ช่วงความเป็นปึกแผ่นของอุตสาหกรรมไมซ์ (สมัยรัชกาลที่ 9 จนถึงปัจจุบัน) ก้าวเข้าสู่ไมซ์ยุคใหม่ ที่เกิดสมาคมภาคเอกชนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

นายจิรุตถ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กิจกรรมไมซ์ ได้ขยายบทบาทไปในการสร้างสรรค์ และพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ จากนโยบายของทีเส็บที่กระจายการพัฒนา และโอกาสของธุรกิจไมซ์ ไปยังผู้ประกอบการ และชุมชนในไมซ์ซิตี้ 10 จังหวัด

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังครองอันดับหนึ่ง ด้านการจัดประชุมนานาชาติของอาเซียน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (ปี 2559-2561) และเป็นประเทศที่มีการจัดประชุมนานาชาติมากที่สุด เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้

จากสถิติอุตสาหกรรมไมซ์ไทย นับจากการจัดตั้งทีเส็บมา 16 ปี พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักเดินทางไมซ์ จากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 191,747,994 คน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 1,756,739 ล้านบาท ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 อุตสาหกรรมไมซ์ไทย สร้างรายได้ทางตรง และทางอ้อม ต่อระบบเศรษฐกิจ 728,540 ล้านบาท และการจ้างงาน 426,616 อัตรา

ส่วนในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ทุกประเทศ ลดลงจากปีก่อนกว่า 60% โดยประเทศไทยมีนักเดินทางไมซ์รวม 10.456 ล้านคน สร้างรายได้ 61,317 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 5 แสนคน สร้างรายได้ 29,819 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 9.95 ล้านคน สร้างรายได้ 31,498 ล้านบาท

แม้ว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อธุรกิจทุกสาขา รวมทั้งไมซ์ แต่การดำเนินงานของทีเส็บ ที่เน้นพัฒนาระบบ โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาคนและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยพร้อมแข่งขันทันที เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง”นายจิรุตถ์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo