Economics

โปรดอ่าน!! ‘คลัง’ ยืนยันจ่ายหนี้่ประเทศครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา

โปรดอ่าน!! “กระทรวงการคลัง” ยืนยันการชำระหนี้ของประเทศต้องครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา พร้อมตั้งงบประมาณปี 65 คืนหนี้ 3.2% ของงบประมาณรายจ่าย

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะว่า ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 มีจำนวน 8.59 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 54.91% ของ GDP ซึ่งหนี้สาธารณะจำนวนดังกล่าว เป็นหนี้ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมากู้มา เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ กู้เพื่อโครงการลงทุนของภาครัฐ ค้ำประกันเงิน กู้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล หรือมีการตรากฎหมายพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ในแต่ละปี สำนักงบประมาณ จะจัดสรรงบชำระหนี้ให้กับกระทรวงการคลัง และรัฐวิสาหกิจเพื่อนำไปชำระคืนต้นเงินกู้ และดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระ โดยเมื่อได้รับงบชำระหนี้แล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้นำไปชำระหนี้โดยยึดหลัก “ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา” อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละปี จะต้องได้รับการจัดสรร และชำระอย่างครบถ้วน ไม่สามารถลด ตัดทอน หรือโยกงบดังกล่าวไปใช้ในการอื่นได้

แพตริเซีย1664

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประเทศ ต้องเสียความน่าเชื่อถือจากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหากผิดนัดชำระหนี้แล้ว จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน

ในส่วนของการจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้นั้น คณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ได้มีการประกาศเมื่อปี 2561 กำหนดสัดส่วนงบประมาณ เพื่อการชำระต้นเงินกู้ของรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการชำระหนี้ โดยต้องได้รับการจัดสรรไม่น้อยกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวได้มีการศึกษาแล้วว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมในการบริหารหนี้ของประเทศ

อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีความจำเป็น จะต้องระดมเงินเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จากทุกแหล่งเงิน เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งรัฐบาลเห็นว่างบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ ที่กระทรวงการคลังได้รับจัดสรร และอยู่ระหว่างรอการชำระหนี้ตามงวดจำนวน 35,303 ล้านบาทนั้น เป็นวงเงินที่สามารถนำไปให้ความช่วยเหลือได้มาก

อีกทั้ง กระทรวงการคลัง สามารถปรับโครงสร้างหนี้แทนการชำระคืนหนี้ได้ รัฐบาลจึงขอให้กระทรวงการคลัง โอนงบดังกล่าวเข้างบกลางฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งการโอนงบชำระคืนต้นเงินกู้ดังกล่าว จะทำให้สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระต้นเงินกู้ ต่ำกว่าที่คณะกรรมการประกาศไว้เดิม

ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายวินัยการเงินการคลังของรัฐ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดสัดส่วนดังกล่าวใหม่ให้สอดคล้องข้อเท็จจริงภายใต้สถานการณ์ที่มีอยู่ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1.5% แต่ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่า เมื่อสภาวะการเงินการคลังของประเทศกลับมาเป็นปกติ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการเสนอให้คณะกรรมการปรับสัดส่วนกลับมาเท่าเดิมในโอกาสแรก

ต่อมาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ จึงได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณ เพื่อการชำระต้นเงินกู้อยู่ที่ 2.5% แต่ไม่เกิน 4.0% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงการคลัง และรัฐวิสาหกิจได้รับงบชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.2% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่คณะกรรมการกำหนดที่ 2.5-4.0% โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้คำนึงถึงการรักษาวินัยในเรื่องการชำระหนี้ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของประเทศ ความมั่นคง และการมีเสถียรภาพทางการคลังเป็นสำคัญ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo