Economics

คาดส่งออกรถยนต์ปีนี้ทำได้ 8.9-9.5 แสนคัน ชี้ ‘โควิด’ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ!!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน ส่งออกรถยนต์ ปี 2564 มีโอกาสฟื้นตัว ชี้ยังมีมุมมองที่ระมัดระวัง คาดส่งออกรถยนต์จะอยู่ระหว่าง 890,000-950,000 คัน ขยายตัว 21-28% ชี้ “โควิด” ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย ส่งออกรถยนต์ ปี 2564 มีโอกาสฟื้นตัว หลังประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้นกว่าปีก่อน และค่ายรถโยกฐานผลิตเพื่อส่งออกมายังไทยเพิ่มขึ้น ทว่าจากความเสี่ยงที่ยังกดทับอยู่ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีมุมมองที่ระมัดระวังโดยคาดว่ายอดส่งออกรถยนต์จะอยู่ระหว่าง 890,000 – 950,000 คัน ขยายตัว 21.0%-28.0% (YoY) จากฐานที่ต่ำมากในปีที่แล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกรถยนต์ของไทยปีนี้แม้จะฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยสาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักในกลุ่มโอเชียเนียและเอเชียที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น นำโดยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และเวียดนาม เป็นต้น ขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นเองมีการโยกให้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะส่งกลับญี่ปุ่น ทำให้ล่าสุดในปี 2563 ญี่ปุ่นกลายมาเป็นผู้นำเข้ารถยนต์จากไทยอันดับ 2 จากที่อยู่อันดับ 9 ในปี 2562

ส่งออกรถยนต์

อย่างไรก็ตาม ทิศทางตัวเลขส่งออกต่อจากนี้ยังไม่อาจวางใจเนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีความไม่แน่นอนสูง 2 ด้านประกอบกัน ได้แก่

1. แนวโน้มของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ของไทย ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นในปัจจุบัน ทว่าการระบาดที่ยังไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่เพียงจะส่งผลต่อความต้องการนำเข้าที่ลดลงในบางประเทศ แต่ยังอาจมีผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ด้วยหากต้องมีการปิดโรงงานผลิตรถยนต์หรือชิ้นส่วน ซึ่งปัจจัยเรื่องการระบาดของโควิดที่ยังมีอยู่นี้เป็นความเสี่ยงหลักที่จะมีผลต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยในระยะข้างหน้ามากที่สุด

2. ปัญหาการขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะทยอยคลี่คลายตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ หลังผู้ผลิตชิปญี่ปุ่นรายใหญ่ ที่ค่ายรถในไทยนำเข้ามาประกอบเป็นหลักนั้น คาดว่า จะกลับมาส่งมอบได้มากขึ้น หลังฟื้นจากปัญหาไฟไหม้โรงงาน ทว่า การขาดแคลนชิป จากโรงงานผลิตหลักอื่นของโลก ที่ยังไม่คลี่คลาย อาจส่งผลต่อการวางแผนจัดสรรชิปไปยังโรงงานต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วโลกได้

โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปัญหาดังกล่าวอาจไม่กระทบไทยนัก เนื่องจากมีเพียงรถยนต์บางรุ่นเท่านั้นที่เจอปัญหา ขณะที่ไทยมีจุดแข็งสำคัญ จากการเป็นหนึ่งในฐานผลิตต้นทุนต่ำหลักของค่ายรถญี่ปุ่น โดยเฉพาะเพื่อการส่งออก ทำให้ในภาวะที่ค่ายรถต่าง ๆ ต้องบริหารต้นทุนการผลิตมากกว่าปกติ การจัดสรรชิปจึงมีโอกาสมายังไทยเป็นกลุ่มแรก ๆ

นอกจากปัจจัยเสี่ยงหลัก 2 ด้านดังกล่าวแล้ว ยังมีความท้าทายชั่วคราว ที่กดดันด้านต้นทุนวัตถุดิบรถยนต์ที่อาจกระทบต่อราคารถยนต์ส่งออกได้ เช่น ราคาเหล็ก ทองแดง และพลาสติกที่เพิ่มขึ้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการ น่าจะสามารถบริหารจัดการผ่านแนวทางต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ผลผลิตของวัตถุดิบเหล่านี้ ที่หากเกิดภาวะขาดแคลน ก็จะกระทบต่อการส่งออกได้

ในระยะข้างหน้า นอกจากเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ ZEV (Zero Emission Vehicle หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์) ที่ไทยต้องเร่งพัฒนาขึ้นแล้ว การส่งออกรถยนต์ไทยในตลาดหลักเดิม ยังอาจต้องเจอกับการแข่งขัน จากแหล่งผลิตอื่นมากขึ้นด้วย รวมไปถึงมาตรการที่จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ซึ่งมีทิศทางเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การไม่ได้เข้าร่วมบาง FTA ในอนาคตอาจทำให้ไทยส่งออกได้น้อยลงด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะไม่เกิน 10 ปีจากนี้ เพื่อรักษาตำแหน่งศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาค ไทยไม่เพียงจะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวทันตลาดโลก ที่กำลังเข้าสู่ยุครถยนต์ ZEV เท่านั้น แต่การสร้างโอกาสส่งออกในอนาคตก็เป็นเรื่องสำคัญด้วย ซึ่งไทยอาจต้องเตรียมรับมือกับอุปสรรคสำคัญในอนาคต 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

1. การต้องแข่งขันกับรถยนต์ที่ผลิตจากฐานผลิตต้นทุนต่ำอื่น ๆ ซึ่งหากพิจารณาใน 5 ตลาดส่งออกหลักของไทยที่ครองส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออกกว่า 57% อันได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน เป็นต้น พบว่าไทยเริ่มเผชิญกับคู่แข่งขันที่เพิ่มขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่ส่งออกจากฐานผลิตในอินโดนีเซีย รถยนต์สัญชาติจีนจากฐานผลิตจีนที่ได้รับการตอบรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรถยนต์สัญชาติตะวันตกที่ย้ายฐานผลิตไปยังยุโรปตะวันออกซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่ามากขึ้น

และศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในอนาคตเมื่อก้าวเข้าสู่ยุครถยนต์ ZEV ความเสี่ยงดังกล่าวนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานผลิตเหล่านี้ต่างมีจุดแข็งสำคัญที่ไทยยังไม่มี คือ การเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ ZEV ในระดับต้นน้ำ คือ เซลล์แบตเตอรี่ ด้วย

2. ประเทศคู่ค้าไทยที่มีฐานผลิตรถยนต์ในประเทศเช่นกันมีโอกาสออกมาตรการใหม่ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยในอนาคต ทั้งเพื่อรักษาฐานผลิตให้ยังอยู่ในประเทศหลังปัจจุบันค่ายรถต่างมุ่งย้ายฐานการผลิตไปรวมที่ศูนย์กลางการผลิตของแต่ละภูมิภาคมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนรวม เช่น ล่าสุดกรณีฟิลิปปินส์ที่ออกมาตรการปกป้องการนำเข้ารถยนต์จากประเทศต่างๆ ตั้งแต่ต้นปี 2564 หลังค่ายรถทยอยย้ายฐานการผลิตออกจากฟิลิปปินส์มารวมศูนย์ที่ไทยอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่บางประเทศก็ออกมาตรการเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ประชาชนผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น เช่น กลุ่มอียูที่มีแผนปรับมาตรฐานไอเสียขึ้นเป็นระยะโดยในปี 2568 ก็จะปรับขึ้นสู่ยูโร 7 ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าไทยอาจต้องเร่งสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยรักษาระดับต้นทุนรวมที่ต่ำกว่าฐานผลิตอื่น โดยแนวทางหนึ่ง คือ ส่งเสริมให้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นในการผลิต

3. FTA บางความตกลงที่หากไทยไม่เข้าร่วมอาจกระทบต่อโอกาสส่งออกรถยนต์ในอนาคต เมื่อ FTA ช่วยลดต้นทุนโดยรวมลงได้ โดยเฉพาะในยุคที่ค่ายรถต่างต้องทุ่มเงินลงทุนไปกับการแข่งขันกันด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไม่หยุด ในอีกด้าน FTA ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนด้วยในกรณีเกิดวิกฤตต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติ เนื่องจากช่วยให้การปรับโยกการผลิตชั่วคราวระหว่างประเทศสมาชิกเป็นเรื่องง่ายขึ้นด้วยต้นทุนต่ำ FTA จึงเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนในแต่ละประเทศของค่ายรถ

โดยหากพิจารณาเฉพาะในมุมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า FTA กับกลุ่มอียู และกลุ่ม CPTPP เป็นความตกลงที่ควรเร่งนำมาพิจารณา โดยเฉพาะเมื่ออียูมีโอกาสจะกลายมาเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ ZEV ให้กับไทยได้ในอนาคต ขณะที่ CPTPP ไม่เพียงเพิ่มตลาดส่งออกใหม่แต่ยังอาจดึงดูดการลงทุนเพิ่มได้ หลังสหรัฐฯ อังกฤษ เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน กำลังพิจารณาเข้าร่วม ขณะที่อีกด้านก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการที่เวียดนาม และอินโดนีเซียจะกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญในการเป็นฐานผลิตรถยนต์ ZEV เพื่อส่งออกของค่ายรถต่างๆ ในอนาคตด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo