Business

ยอมแล้ว! ฟู้ดเดลิเวอรี 5 ราย หั่นค่าจีพี ร้านอาหารเหลือ 25% ลดราคาอาหาร ค่าขนส่ง

ฟู้ดเดลิเวอรี 5 ราย ช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร หั่นลดค่าจีพีเหลือ 25% ลดค่าอาหาร-ค่าขนส่ง คาดแพลตฟอร์มสูญรายได้ 250-350 ล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 2,000 ล้าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมกัน มีแพลตฟอร์มที่ให้บริการส่งอาหาร หรือ ฟู้ดเดลิเวอรี 5 ราย ได้แก่ โรบินฮู้ด ฟู้ดแพนด้า แกร็บ โกเจ็ก และไลน์แมน

ฟู้ดเดลิเวอรี 5 ราย

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนร้านอาหารทั่วประเทศ เช่น สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด สมาคมร้านอาหารและบันเทิงเชียงใหม่ ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร เป็นต้น และผู้แทนสถาบันการเงิน 6 แห่ง ได้แก่ 1. SME D Bank 2. ธนาคารกรุงไทย 3. ธนาคารออมสิน 4. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 5. ธ.ก.ส. และ 6. บสย. เข้าร่วมประชุม เพื่อให้ความช่วยเหลือร้านอาหารที่ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์ม และกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ

จากการประชุมดังกล่าว ได้มีมติช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยการลดค่าจีพี ที่แพลตฟอร์มคิดกับร้านอาหารจากเฉลี่ย 25-35% ลงมาเหลือ 25% ยกเว้น โรบินฮู้ด ที่ไม่คิดค่าจีพีร้านอาหารอยู่แล้ว และฟู้ดแพนด้า ไม่คิดค่า จีพี สำหรับร้านใหม่

ในส่วนของการดูแลผู้บริโภค คือ 1. ลดราคาอาหารที่ขายผ่านแพลตฟอร์มทั้ง 5 แพลตฟอร์ม สูงสุด 60% และจะลดค่าขนส่ง 4 แพลตฟอร์ม ใน 3-5 กิโลเมตรแรก ลดสูงสุดจาก 40 บาทเหลือ 0 บาท ประกอบด้วย โรบินฮู้ด ฟู้ดแพนด้า แกร็บ และโกเจ็ก

ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2564 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับค่า จีพี ส่วนค่าอาหารจะลดทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจะสูญเสียรายได้ 250-350 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

จุรินทร์ 2

นายจุรินทร์กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ได้จัดโครงการแมชชิ่งเงินกู้ ให้กับร้านอาหารทั่วประเทศ โดย กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นตัวกลางช่วยร้านอาหาร ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก 6 สถาบันการเงิน ประกอบด้วย 1. SME D Bank 2. ธนาคารกรุงไทย 3. ธนาคารออมสิน 4. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 5. ธ.ก.ส. และ 6. บสย.

การดำเนินการดังกล่าว จะมีการจัด 2 กิจกรรม ได้แก่

1. ให้สถาบันการเงิน ให้ข้อมูลกับร้านอาหาร ที่สนใจเข้าถึงแหล่งเงินกู้วันที่ 1-6 มิถุนายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ส่วนในต่างจังหวัด จะให้พาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการให้ร้านอาหารที่สนใจ สอบถามข้อมูล จากสถาบันการเงิน

2. จะมีการจับแมชชิ่งให้ยื่นเรื่อง เพื่อขอกู้เงินตามเงื่อนไข ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ในวันที่ 7-20 มิถุนายน 2564 เพื่อช่วยให้ร้านอาหารในช่วงวิกฤติโควิด-19

ปัจจุบัน ร้านอาหารที่จดทะเบียนกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นนิติบุคคล 15,967 ราย และบุคคลธรรมดา 103,000 ราย รวมแล้ว 118,967 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo