Business

ศาลสูงสุดตัดสิน ‘กองสลากฯ’ ชดใช้ ‘ล็อกซเล่ย์’ 1.6 พันล้าน คดีหวยออนไลน์

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา “กองสลากฯ” ต้องควัก 1.6 พันล้านชดใช้ความเสียหาย “ล็อกซเล่ย์” คดีหวยออนไลน์ หลังผิดสัญญาไม่ขายหวยพิเศษเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว

วันนี้ (27 พ.ค.) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชำระเงินจำนวน 1,654,604,627.54 บาท แก่บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด (ผู้รับจ้างให้บริการระบบเกมสลากออนไลน์)

โดยเป็นค่าเสียหายจากสิทธิได้รับค่าแห่งการงานที่ทำให้แก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นเงิน 1,049,918,535.60 บาท ค่าใช้จ่ายเพื่อคงความพร้อมต่อไปคำนวณจากวันที่ควรจะเริ่มจำหน่ายสลากจริง จนกว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะปฏิบัติตามสัญญา เป็นเงิน 412,762,954.44 บาท และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกรณีโครงการล้มเลิก เป็นเงิน 191,923,137.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564

และชำระดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา

ล็อกซเล่ย์ คดีหวยออนไลน์

รายละเอียดคำตัดสินจ่าย “ล็อกซเล่ย์” คดีหวยออนไลน์

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 774/2554 หมายเลขแดงที่ 1262/2561 ระหว่าง บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) หรือ LOXLEY จำนวน 1,645 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่กำหนด ซึ่งมูลค่าเสียหายดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1,326 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นผลจาก สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการออกหวยออนไลน์เลขท้าย 3 ตัว 2 ตัวได้ หลังจากสำนักงานสลากฯ ได้หารือกับสำนักงานกฤษฎีกาที่มีคำวินิจฉัยว่าการออกหวยออนไลน์เลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว เป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.การจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเป็นต้นเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการได้

บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด จึงฟ้องร้องว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลผิดสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลาก โดยไม่เริ่มจำหน่ายสลากจริงและทำหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีให้เริ่มบริการตามสัญญา โดยปราศจากเหตุที่จะอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมายและสัญญา

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีได้ทวงถามผู้ถูกฟ้องคดีให้ปฏิบัติตามสัญญา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลาก โดยให้เริ่มจำหน่ายสลากจริง

โดยแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีเริ่มให้บริการตามสัญญา ชดใช้ค่าเสียหายจากภาระค่าใช้จ่ายเพื่อคงความพร้อมในการปฏิบัติตามสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลากแก่ผู้ฟ้องคดีถึงวันฟ้อง 1,375,077,253 บาท และในอัตราเดือนละ 16,361,444 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะปฏิบัติตามสัญญา พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ของต้นเงิน 1,375,077,253 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และชำระค่าใช้จ่ายที่ต้องเกิดขึ้นในการเริ่มจำหน่ายสลากจริง จำนวน 98,340,383 บาท

อย่างไรก็ตาม หากไม่อาจบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลากได้ ขอถือเอาการฟ้องคดีนี้เป็นการแสดงเจตนาในการเลิกสัญญาโดยขอให้เพิกถอน หรือให้เลิกสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลาก และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเงิน 3,167,387,768 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี จากต้นเงิน จำนวน 3,167,387,768 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

สำหรับ คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินจำนวน 945,649,656 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ คดีถึงที่สุด

เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีเพื่อให้บริการระบบเกมสลาก ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2548 โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อกฎหมายให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนทำสัญญาพิพาทกับผู้ฟ้องคดี หากแต่มาตรวจสอบข้อกฎหมายภายหลังจากทำสัญญาพิพาทกับผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามสัญญาไปแล้วบางส่วน

ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติตามสัญญาพิพาทไปบางส่วนแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเริ่มให้บริการตามสัญญาพิพาท เนื่องจากหากมีการปฏิบัติตามสัญญาพิพาทโดยจำหน่ายสลาก และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเริ่มให้บริการตามสัญญาพิพาทย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเกิดจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยกรณีที่ไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามสัญญาพิพาทดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo