Business

ทางรอด ‘ท่องเที่ยวไทย’ ต้องปรับตัว รับ Next Normal ด้วย 5 แนวทาง ตามนี้!

ท่องเที่ยวไทย ต้องปรับตัว รับ Next Normal สตาร์ทอัพ แนะ 5 กลยุทธ์ เน้นคุณภาพ ความปลอดภัย เทคโนโลยี ทักษะ การผนึกกำลังแบบบูรณาการ แก้ปัญหาที่ยั่งยืน

วิกฤติการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ประเทศไทยและทั่วโลกได้พบเจอ ส่งผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบอย่างมหาศาล กับธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว โดย ท่องเที่ยวไทย ต้องปรับตัว ในยุคที่ไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป สู่ Next Normal

ท่องเที่ยวไทย ต้องปรับตัว

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) สตาร์ทอัพธุรกิจท่องเที่ยว แหล่งรวมอี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การบริหารงานของบริษัทแม่ในโซนยุโรป ประกอบกับการดำเนินงานในประเทศไทย ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประเมินว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย จะฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติได้เหมือนทุกครั้งที่เคยเกิดวิกฤติต่างๆ

ทั้งนี้เพราะประเทศไทย มีเอกลักษณ์ที่เป็นแม็กเน็ตสำคัญ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย อาทิ วัฒนธรรมประเพณี ความงดงามของธรรมชาติ อาหารการกิน ค่าใช้จ่ายต่อการท่องเที่ยว เป็นต้น แต่สิ่งที่จะตามมาภายหลังจากพายุโควิด-19 สงบลง คือการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ยุค “Next Normal” หรือยุคการเปลี่ยนแปลง เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องปรับตัวตาม

ดังนั้น การเรียนรู้วิธีการรับมือให้เร็ว คือ ทางรอดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยมาคาเลียส มองว่า 5 แนวทางที่สำคัญ ในการเตรียมความพร้อม และสร้างระบบการท่องเที่ยวยุค Next Normal ได้นั้น มีดังนี้

PRMK04 copy

คุณภาพและประสบการณ์ (Quality & Experience)

คุณภาพและประสบการณ์ เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะพิจารณาเป็นอันดับแรก มากกว่าเรื่องของราคา เพราะการออกไปท่องเที่ยวในแต่ละครั้ง นักท่องเที่ยว จะคิดเยอะขึ้น ดูความสมเหตุสมผลระหว่างราคากับคุณภาพ และที่สำคัญในแต่ละทริปต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างคุณภาพของบริการที่จับต้องได้ มากกว่าการทำโปรโมชั่น ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนการจำหน่ายแพคเกจแบบการลดราคา เป็นการเพิ่มกิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างความสนุกให้กับทริปท่องเที่ยว เป็นต้น

ความปลอดภัย (Hygiene)

นักท่องเที่ยว ในยุค Next Normal ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของห้องพัก รวมถึงการให้บริการที่เน้นแบบไร้สัมผัส (Contactless Services) ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น e-Voucher เปลี่ยนจากกระดาษเป็นออนไลน์ e-Concierge เปลี่ยนจากการเช็คอินที่เคาเตอร์เป็นการให้บริการเช็คอินที่ห้องพัก เพื่อลดการแออัดบริเวณพื้นที่ส่วนรวม และ Digital payment การชำระเงินด้วยรูปแบบการโอนจ่าย หรือการจ่ายผ่านเหรียญคริปโต (Crypto Currency) ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

เทคโนโลยี (Tech)

เทคโนโลยี ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทาง ในการยกระดับคุณภาพของงานบริการ ซึ่งในปัจจุบัน เริ่มมีผู้ประกอบการหลายแห่ง นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการ เช่น การใช้แท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน สำหรับการเช็คอิน การเช็คเอาท์ การสอบถามข้อมูล รวมไปถึงการให้บริการ Room Service แทนการใช้โทรศัพท์ในห้องพัก เพิ่มความประทับใจให้กับ นักท่องเที่ยว เพราะสามารถใช้บริการได้ทุกที่ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือ ในการติดตามนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย

ณีรนุช
ณีรนุช ไตรจักร์วนิช

ทักษะ (Skill)

เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริการมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบบริการเปลี่ยนไป บางสายงานอาจถูกลดจำนวนลง ดังนั้น บุคลากรควรมีการ Upskill คือ การนำองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม มาพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การเพิ่มทักษะภาษาจีนจากเดิมที่มีทักษะภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ ควร Reskill การเปลี่ยนองค์ความรู้เดิม เพื่อรับมือกับสายอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้น เช่น เดิมเป็นเจ้าหน้าที่ออฟฟิศรับจองห้องพัก แต่เมื่อ Ai เข้ามาทำงานแทน เราอาจผันตัวเองมาเรียนเป็นผู้สอน SUP Board เพราะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางน้ำที่กำลังได้รับความนิยม และเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ เป็นต้น

บูรณาการ (Integration)

เพราะการทำงานเพียงลำพังคนเดียว อาจไม่ใช้ทางออกที่ดีที่สุด ของการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ต้องร่วมมือและผนึกกำลัง จากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมไปถึงกลุ่มชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยควรจะเป็น รวมถึงการร่วมมือกันกำหนดแนวทางการแก้ไข ดูแล และป้องกัน หากเกิดวิกฤติต่าง ๆ ขึ้นอีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo