Business

อ่วมพิษโควิด แรงงานนอกระบบ 20.36 ล้านคน รายได้ลด-ยากจนเพิ่ม 10 ล้านคน

แรงงานนอกระบบ 20.36 ล้านคน รับผลกระทบโควิด 19 รายได้ลด แนวโน้มยากจนเพิ่ม เสี่ยงตกงานพุ่ง สสส. หนุน พัฒนาทักษะ สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาวะ ฝ่าโควิด-19

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจแรงงานไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีแรงงาน 37.93 ล้านคน เป็น แรงงานนอกระบบ 20.36 ล้านคน หรือ 53.68% จากตลาดแรงงานทั้งหมด

แรงงานนอกระบบ

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่า แรงงานนอกระบบ 3 กลุ่ม คือ แรงงานภาคเกษตรกรรม แรงงานภาคการค้าบริการ และแรงงานภาคการผลิต ต้องเผชิญปัญหาหนักจากการไม่สามารถประกอบอาชีพ ส่งผลให้ขาดรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแรงงานนอกระบบในภาพรวม ที่ต้องเผชิญ 6 ด้าน คือ 1. ค่าตอบแทนน้อยลง 2. ไม่ได้รับการจ้างงานต่อเนื่อง 3. ทำงานหนักและเสี่ยง 4. ไม่ได้รับสวัสดิการเทียบเท่าแรงงานในระบบ 5. ชั่วโมงทำงานมากเกินไป และ 6. ไม่มีวันหยุดหรือลาพักผ่อนไม่ได้ จึงอาจพบแรงงานในระบบ ออกสู่นอกระบบมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากการปิดสถานประกอบการ

ด้าน ดร.บวร ทรัพย์สิงห์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการสำรวจสถานการณ์แรงงานนอกระบบ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบเป็น “การจ้างงานที่ไม่มีมาตรฐาน” เพราะลักษณะการจ้างงานส่วนใหญ่ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ไม่มีสัญญาจ้างงาน ไม่มีสิทธิสวัสดิการจากบริษัท ไม่ต้องเสียภาษี เช่น อาชีพรับจ้าง หาบเร่แผงลอย คนเก็บขยะ คนขับแท็กซี่ คนรับงานไปทำที่บ้าน และพนักงานโรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

ดร.บวร ทรัพย์สิงห์
ดร.บวร ทรัพย์สิงห์

ขณะที่ สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนชัดเจนว่า แรงงานกลุ่มนี้ อาจมีสถานะยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคน เพราะมีรายได้น้อยลง จากมาตรการหยุดวงจรระบาดโควิด-19 แรงงานบางส่วน เปลี่ยนงานมาทำงานบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้

สำหรับปัจจัยทางสังคม มีส่วนกำหนดสุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ ของแรงงานนอกระบบ ด้วยการเร่งให้ “วัคซีน” แรงงานกลุ่มภาคบริการ แรงงานรับจ้าง จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้มีทางออกในการใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะจะสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มแรงงานมีความปลอดภัย ลดเสี่ยงการติดโควิด-19

ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยกลไกพักชำระหนี้ และเยียวยาจิตใจให้คำปรึกษา ในช่วงที่เผชิญวิกฤติ เพราะกลุ่มคนทำงานส่วนใหญ่ ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน การหยุดงาน หมายถึง การสูญเสียรายได้ทั้งหมด ในการเลี้ยงครอบครัว

นางภรณี กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงานนอกระบบ สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (สชพ.) วางแนวทาง “เพิ่มรายได้ พัฒนาทักษะ สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาวะ” เพื่อกระตุ้น และส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบ รู้จักวิธีรับมือปัญหา และเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ โดยนำร่องที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีคนตกงาน หรือถูกเลิกจ้างชั่วคราวเป็นจำนวนมาก

ภรณี ภู่ประเสริฐ

พร้อมกันนี้ ได้สนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงาน ให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี การให้คำปรึกษาการสร้างอาชีพที่ 2 เพื่อเพิ่มรายได้ สนับสนุนการพัฒนาชุดความรู้ ให้แรงงานนอกระบบ รู้จักวิธีป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ และการสื่อสารผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ ครอบคลุมกว่า 3,000 คนในพื้นที่

สสส. ยังร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ในการส่งเสริมอาชีพ และการพึ่งตนเองในอีก 76 ชุมชน และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ชุมชน เป็นสถานที่กักตัว เมื่อพบกลุ่มเสี่ยง จำนวน 13 ศูนย์ กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุทรปราการ และปทุมธานี พร้อมทั้งมีมาตรการอบรมให้ความรู้ อาสาสมัครดูแลกลุ่มเสี่ยง กับอาสาสมัคร และตัวแทนชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการสนับสนุนการกักตัวของกลุ่มเสี่ยง

ในด้านการพัฒนามาตรการแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจ ของคนในชุมชน ได้แก่ ร้านอาหารและของชำราคาถูก ผักสวนครัวหน้าบ้านและ เลี้ยงไก่ไข่ ในชุมชน เป็นต้น มีเป้าหมายเพื่อสร้างการพึ่งตนเอง ลดรายจ่ายให้กับครัวเรือนและชุมชน จากการขาดรายได้หรือว่างงาน ซึ่งในระยะยาวจะเป็นแหล่งอาหารให้กับ กลุ่มคนเปราะบางชุมชน นอกจากนี้ยังได้ยกระดับองค์กรด้านอาชีพ เพื่อพัฒนาระบบ กระบวนการเสริมศักยภาพ และทักษะด้านอาชีพที่เหมาะสม และตรงต่อความต้องการของตลาด เพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo