Business

โควิดซัด อุตสาหกรรมเกษตร อาหารไทย หดตัว 6% จ้างงานลดกว่า 7 แสนคน

อุตสาหกรรมเกษตร อาหารไทย กระทบหนักจากโควิด มูลค่าวูบ 6%รวมกว่า 2.28 แสนล้านบาท กระทบจ้างงานกว่า 7 แสนคน เหตุภาคท่องเที่ยวทรุด

ผลวิจัยล่าสุดจาก ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) ชี้  อุตสาหกรรมเกษตร อาหารไทย หดตัว 6% ในปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่า 2.28 แสนล้านบาท ส่งผลให้การจ้างงานลดลงร้อยละ 8 หรือ 730,000 คน โดยมีสาเหตุหลักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อุตสาหกรรมเกษตร

องค์กรอุตสาหกรรมอาหารแห่งเอเชีย หรือ Food Industry Asia (FIA) ร่วมกับ Oxford Economics ได้จัดทำวิจัยเรื่อง ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผลวิจัยแสดงให้เห็นถึง บทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ที่มีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย การจ้างงาน และการส่งมอบผลผลิตทางการเกษตรและอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับหัวข้อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจพบว่า ภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหารไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่เผชิญกับความท้าทายในการฟื้นตัวเป็นอย่างมาก และได้คะแนนเพียง 4.9 จาก 10 จากผลการวิจัยเศรษฐกิจ 10 ประเทศในภูมิภาค ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนต่ำกว่าไทย คือ ฟิลิปปินส์ และมีอินโดนีเซียรั้งท้าย

การที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุด ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากวิกฤติโควิด อุตสาหกรรมอาหารไทยจึงมีความเปราะบางเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว โดยสัดส่วนการบริโภคอาหารของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ณ สิ้นปี 2562 คิดเป็น 9.5% ของการบริโภคอาหารทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่า โอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเหตุการณ์การแพร่ระบาด น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี (ปี2567)

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมนี้ อยู่ในสภาวะที่น่ากังวล เนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตร อาหารในปี 2562 มีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวม หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท

shutterstock 126744209

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการจ้างงานเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานทั่วประเทศ หรือประมาณ 17.9 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้จากภาษีให้แก่รัฐบาลมากกว่า 7.08 แสนล้านบาท ตัวเลขเหล่านี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญ ที่รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรม จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร รอดพ้นจากอุปสรรค และความท้าทายที่มีนัยสำคัญดังที่ปรากฏในผลวิจัย

ขณะเดียวกัน รายงานนี้บ่งชี้ถึงความสำคัญ ของภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหารที่มีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากในขณะที่ประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด ภาคอุตสาหกรรมนี้กลับหดตัวลงในอัตราที่น้อยกว่า การหดตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นอุตสาหกรรมเกษตร อาหารของไทย จึงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายแมททิว โคแวค ผู้อำนวยการบริหาร FIA ให้ความเห็นว่า ก่อนที่จะจัดทำนโยบายและเริ่มใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังวิกฤต รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง ที่ผู้ประกอบการด้านเกษตร อาหาร จะต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะหากไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงอย่างรอบด้าน นโยบายหรือมาตรการเหล่านั้น อาจส่งผลเชิงลบ ต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหารและเศรษฐกิจไทย หรืออาจทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปิดกิจการและการเลิกจ้าง

shutterstock 446808100

พร้อมกันนี้ คาดว่า ภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร จะเผชิญกับอุปสรรคอย่างหนักในปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์ด้านอาหารและเครื่องดื่มจะลดต่ำลง ในขณะที่ความท้าทายที่มีอยู่เดิมและเป็นปัญหาในระยะยาว จะยังคงมีอยู่ต่อไป หลังวิกฤติโควิด ผู้กำหนดนโยบาย จะต้องพิจารณาประเด็นเหล่านี้ ก่อนที่จะบังคับใช้นโยบาย ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดแรงงาน

รายงานฉบับนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่ามาตรฐานสากล ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยง สำหรับอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร เนื่องจากรัฐบาลอาจเลือกใช้วิธีการขึ้นภาษี เพื่อนำเงินไปใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ส่วนหนึ่งของรายงานการประเมินความเสี่ยงด้านนโยบายการคลัง แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยจะใช้การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หลังสถานการณ์โควิด ซึ่งหากเป็นเช่น ประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย จากการที่ภาคอุตสาหกรรมอาหาร และผู้บริโภค จะต้องแบกรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น

shutterstock 633215291

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการดำเนินนโยบายด้านภาษีที่เหมาะสม จะช่วยสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหารสามารถสร้างมูลค่าแก่เศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง โดยช่วยสนับสนุนคนไทย ผู้ประกอบการรายเล็ก และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เนื่องจาก 1 ใน 3 ของรายได้ภาคครัวเรือนเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารและเครื่องดื่ม

ดังนั้น รัฐบาลควรช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ให้ก้าวผ่านความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 และแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก เช่นการปิดชายแดน โดยมุ่งเน้นความช่วยเหลือในสามด้าน ได้แก่ การให้ความรู้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของภาคเกษตรและให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพ การใช้มาตรฐานด้านการกำกับดูแลแทนการดำเนินนโยบายด้านภาษี และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการ อย่างสม่ำเสมอ

ขณะเดียวกัย ควรให้ความสำคัญกับ การเพิ่มผลผลิตของพื้นที่เพาะปลูก และประสิทธิผลของแรงงาน ซึ่งต้องใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการพัฒนาทักษะ การใช้นโยบายที่เหมาะสม และเอื้อให้เกิดการพัฒนา รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าด้านอาหารของภูมิภาค

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo