Business

‘ดุสิตธานี’ ปรับโมเดลธุรกิจ สู้โควิด-19 หลังรายได้ธุรกิจโรงแรมลดฮวบ 50%

ดุสิตธานี ปรับโมเดลธุรกิจ ดิ้นสู้โควิด-19 ทั้งธุรกิจโรงแรมธุรกิจการศึกษา ธุรกิจอาหารและธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์​ หลังธุรกิจโรงแรม รายได้หดหาย 50%

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ที่พึ่งพิงรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้จำกัดการเดินทาง​ ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลให้ ดุสิตธานี ปรับโมเดลธุรกิจ ครั้งใหญ่ เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์

ดุสิตธานี
DTHH-Overview

ทั้งนี้ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ว่า รายได้จากธุรกิจโรงแรมลดลง 50.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามรายได้รวมยังสามารถเติบโต 3.9% จากไตรมาส 1 ปี 2563 โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,311 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น​ และรายได้จากการขายเงินลงทุนของบริษัทร่วมทุนแห่งหนึ่งในโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

นอกจากนี้ผลจากการ ควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 26% ส่งผลให้ไตรมาส 1/2560 มีกำไรสุทธิ 74 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิ 82 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • ธุรกิจโรงแรม

ในไตรมาส 1/2564 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงแรม 437 ล้านบาทลดลง 50.1% จาก 857 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19​ แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจโรงแรมที่ลงทุนเอง 381 ล้านบาท ลดลง 50.8% และธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรมมีรายได้ 48 ล้านบาท ลดลง 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดุสิต

จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้ ดุสิตธานี ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจโรงแรม ดังนี้

แผนระยะสั้น

ปรับการขายห้องพักจากเดิมเป็น work from Anywhere ออกมาในรูปแบบรายวัน หรือระยะยาว รวมทั้งเน้นหารายได้เพิ่ม จากธุรกิจที่ไม่ใช่ค่าห้องพัก เช่น การเสนออาหารเมนูพิเศษที่ไม่ได้ขายเป็นเมนูประจำ หรือการปรับเปลี่ยนเมนูไปตามฤดูกาล ควบคู่กับการให้บริการเดลิเวอรี่

แผนระยะกลาง

เร่งพัฒนาแหล่งกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพวิถีธรรมชาติที่โรงแรม เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า ได้สัมผัสกิจกรรมที่หลากหลาย เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ ควบคู่กับบริการที่สะดวกสบายและปลอดภัย เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการที่โรงแรม เช่น การทำสวนผักผลไม้ออร์แกนิก การทดลองปลูกนาข้าว การจัดกิจกรรมพิเศษร่วมกับพาร์ทเนอร์ หรือคนในพื้นที่ในช่วงวันหยุดยาว เป็นต้น

แผนระยะยาว

ปรับวิธีการให้บริการ ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มดุสิตธานี ให้สอดรับกับเทรนด์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป โดยให้ความสำคัญกับ 4 แกนหลัก คือ บริการที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า บริการที่ตอบสนองการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ บริการที่เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชนและคนรอบข้าง และบริการที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ดุสิต อาหาร

  • ธุรกิจการศึกษา

ในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจการศึกษา 105 ล้านบาท ลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเรียนการสอนที่ลดลงของวิทยาลัยดุสิตธานี  ทั้งจำนวนนักศึกษาที่ลดลง และการเปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นออนไลน์

การปรับธุรกิจการศึกษา การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในปีนี้ ส่งผลให้บริษัทต้องปิดสถาบันการศึกษาชั่วคราว ตามคำสั่งของภาครัฐ ในเดือนมกราคม และเดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยวิทยาลัยดุสิตธานี ปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ ขณะที่โรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจการศึกษา ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มความต้องการเรียน เพื่อไปประกอบกิจการ จึงเตรียมเปิดโครงการใหม่กำหนดรูปประจำเรื่อง “Food School” ประมาณไตรมาส 4 ปี 2564 สำหรับผู้สนใจเรียนศิลปะการทำอาหารและเครื่องดื่ม และผู้ประกอบการธุรกิจอาหารหน้าใหม่ในอนาคต

  • ธุรกิจอาหาร

ในไตรมาส 1 ปี 2564 มีบริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหาร 159 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13 ล้านบาท หรือ 37.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ของกิจการ The ​Caterers ในประเทศเวียดนาม มี​ Epicure.catering เข้ามาลงทุนในไตรมาส 1 ปี 2563 และลงทุนเพิ่มจนครบในไตรมาส 3 ปี 2563

ขณะที่ผลกำไรจากธุรกิจอาหาร อยู่ที่ 7 ล้านบาท ลดลง 69.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลประกอบการที่ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19

ดุสิต1

สำหรับการปรับตัวของธุรกิจอาหาร จะเน้นลดค่าใช้จ่ายและควบคุมต้นทุน เพื่อลดผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง ในช่วงที่ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ขณะที่ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ KAUAI (คาวาอิ) ซึ่งสาขาแรกตั้งอยู่ในฟิตเนส Virgin Active Wisdom 101 ได้รับผลกระทบจากการปิดฟิตเนส ตามคำสั่งของภาครัฐทั้งรอบที่ 2 และรอบที่ 3 ทำให้ขายเดลิเวอรี่มากขึ้น และมีจุดขาย Grab and Go แทนการนั่งในร้าน

นอกจากนี้ ยังได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการขยายสาขานอกฟิตเนส ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างตกแต่งร้าน เพื่อเตรียมเปิดแฟล็กชิพสโตร์ ในย่านอาคารสำนักงานบริเวณถนนอโศก คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งจะช่วยสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ให้แก่ คาวาอิ ในอนาคต

ในส่วนของ ดุสิต กรูเมต์ ได้ปรับแผนธุรกิจ จากเดิมที่ประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง เปลี่ยนเป็นธุรกิจจัดหาวัตถุดิบ ให้แก่โรงแรมในเครือ ทั้งไทยและต่างประเทศและลูกค้าภายนอก โดยปัจจุบันเริ่มดำเนินการจัดหาเบเกอรี่แช่แข็ง สำหรับโรงแรมในเครือ และวางแผนที่จะเพิ่มไลน์การขาย Ready To Cook ในเดือนมิถุนายน 2564

  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ในไตรมาส 1/2564 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 256 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท สวนลุมพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นเงิน 257 ล้านบาท และรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมการจัดการจากการเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท สวนลุมพร็อพเพอร์ตี้ 16 ล้านบาทส่งผลให้บริษัทมีรายได้มีกำไรจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 249 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 253 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดุสิตธานี

การปรับตัวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่ร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างงานโครงสร้างใต้ดิน และเริ่มทำชั้นใต้ดิน ในส่วนของโรงแรมและอาคารที่พักอาศัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินเป็นที่เรียบร้อย และว่าจ้างผู้รับเหมาหลัก เพื่อก่อสร้างอาคารต่าง ๆ สำหรับขายเรสซิเดนซ์ ปัจจุบันเปิดขายอย่างไม่เป็นทางการได้แล้วกว่า 25% ของพื้นที่ขายทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีโครงการคอนโดมิเนียม เดอะ แฮมป์ตัน ศรีราชา บาย ออริจิ้น แอนด์ ดุสิต ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 จำหน่ายห้องชุดไปแล้ว 60%

นอกจากการปรับโมเดลธุรกิจแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับ การบริหารจัดการทางการเงิน เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ปรับพอร์ตทรัพย์สิน และเงินลงทุน เพื่อรับรู้กำไรเพื่อให้บริษัทสามารถเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน รองรับสถานการณ์ในปัจจุบัน และในระยะยาวได้

ปัจจุบัน รายได้ของดุสิตธานี มาจากรายได้ธุรกิจโรงแรม 33.33% ธุรกิจการศึกษา 8% ธุรกิจอาหาร 12.1% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 19.5% และรายได้จากธุรกิจอื่น 27.1%

ขณะที่ผลประกอบการปี 2563 บริษัทมีผลขาดทุน 1,011 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง และยืดเยื้อ ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งในส่วนที่บริษัทเป็นเจ้าของ และรับเป็นผู้บริหาร ต่างก็ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo