Business

‘นายกฯ’ ตอบชัด! ยังไม่ใส่เงินอุ้ม ‘การบินไทย’ รอเดินหน้าแผนฟื้นฟูฯ ค่อยว่ากัน

“นายกฯ” ตอบชัด! ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ใส่เงิน อุ้ม “การบินไทย” รอเดินหน้าแผนฟื้นฟูฯ ได้ค่อยว่ากัน เดี๋ยวจะวุ่นวายไปหมด

หนึ่งในประเด็นใหญ่ด้านเศรษฐกิจที่สังคมกำลังจับตามองอยู่ในขณะนี้ก็คือ รัฐบาลจะตัดสินใจนำบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติที่อยู่ระหว่างยื่นขอฟื้นฟูกิจการ กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจและใส่เงินทุนเพิ่มให้หรือไม่

ซึ่งในที่สุดวันนี้ (14 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนเรื่องดังกล่าวแล้ว

นายกฯ อุ้ม การบินไทย

“นายกฯ” ยันไม่ใส่เงิน อุ้ม “การบินไทย”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมเเพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ในช่วงท้ายของการแถลงว่า ยืนยันขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ช่วงนี้รัฐบาลยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของการจัดทำแผนฯ ของผู้บริหารแผน และเพื่อให้แผนฯ ผ่านเจ้าหนี้

“แต่ผมยืนยันได้อย่างหนึ่ง รัฐบาลยังไม่สนับสนุนเงินอะไรให้ทั้งสิ้น ผมจำเป็นต้องพูดอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นวุ่นกันไปหมด จนกว่าจะมีการเดินหน้าตามแผน บริหารแผน อย่าเอาตรงนี้เป็นตัวชี้ออกไป ผมคิดว่าทุกคนคงไม่อยากให้การบินไทยล้มละลายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยกันทุกอย่างมันก็เป็นไปไม่ได้อีก ยืนยันว่าเมื่อการบริหารแผนเกิดขึ้นและถ้าทำได้ตามแผนก็ค่อยว่ากันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อไป ตอนนี้รัฐบาลถือว่าเป็นการทำงานของผู้บริหารแผน โอเคไหม ชัดเจนไหม”

 

“เจ้าจำปี” สยบข่าว “เจ้าหนี้” ไม่มั่นใจ

ส่วนกระแสข่าวเกี่ยวกับการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและการเข้าร่วมหารือกับเจ้าหนี้ของ การบินไทย เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้น

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงว่า การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกประการ โดยตลอดระยะเวลาของการจัดทำแผนกว่า 6 เดือนที่ผ่านมานั้น ผู้ทำแผนและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมประชุมหารือกับเจ้าหนี้ทุกกลุ่ม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทมาโดยตลอด และได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ตามกำหนดระยะเวลาตามกฏหมาย

โดยผู้ทำแผนได้พยายามอย่างดีที่สุด ที่จะเสนอแผนฟื้นฟูกิจการที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายตามความเหมาะสม ซึ่งผลตอบแทนที่เจ้าหนี้ในแต่ละกลุ่มจะได้รับเมื่อการฟื้นฟูกิจการประสบความสำเร็จนั้น ดีกว่ากรณีบริษัท การบินไทย ล้มละลายอย่างแน่นอน

ในส่วนที่ผู้ทำแผนและเจ้าหนี้บางรายได้ยื่นข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำนวนรวม 15 ฉบับ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 และมีเจ้าหนี้บางรายขอเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนออกไปนั้น ก็เป็นกระบวนการตามขั้นตอนปกติของการฟื้นฟูกิจการที่เกิดขึ้นในหลายคดี หาใช่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเจ้าหนี้ไม่มั่นใจในการยื่นฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแต่อย่างใด เพียงแต่เจ้าหนี้บางรายจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพิ่มเติมในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการและข้อเสนอขอแก้ไขแผนเท่านั้น

โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดวันนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งต่อไปในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น. และเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ซึ่งในวันประชุมดังกล่าว เจ้าหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการจะสามารถใช้สิทธิในการลงมติเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการ คำขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการและการตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ทำแผนของบริษัทมีความตั้งใจและขอให้เจ้าหนี้เชื่อมั่นว่า เจ้าหนี้ทุกรายจะได้รับการชำระหนี้อย่างเป็นธรรมภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการที่ได้จัดเตรียมมาเป็นอย่างดี โดยการบินไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ในขั้นตอนการลงมติเกี่ยวกับแผนซึ่งเป็นขั้นตอนอันสำคัญยิ่ง เพื่อให้การดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการสามารถเดินต่อไปได้ และจะสามารถกลับมาเป็นองค์กรที่แข่งขันได้ สามารถสร้างความภูมิใจแก่ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสายการบินแห่งชาติที่มีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศต่อไป

ผลประกอบการ การบินไทย ย้อนหลัง 2563 (อัพเดท)

“การบินไทย” เจอวิกฤติโควิด ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้การบินไทยเข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ (Automatic Standstill) กับเจ้าหนี้ทุกรายตามกฎหมาย

สำหรับรายละเอียดที่การบินไทยใช้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายมีดังนี้ บริษัท การบินไทย (ขณะนั้น) มีทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท หนี้สินรวม 354,494 ล้าน สินทรัพย์รวม 349,636 ล้าน มีหนี้ถึงกำหนดชำระ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 รวม 10,200 ล้าน ซึ่งการบินไทยอยู่ในสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สามารถชำระหนี้ได้

โดยเหตุผลที่ศาลฯ ควรพิจารณาให้ฟื้นฟูกิจการ คือ ธุรกิจการบินไทยมีพื้นฐานดี มีการประกอบธุรกิจมานาน เเละยังได้รับรางวัลต่อเนื่อง รวมทั้งมีธุรกิจอื่นช่วยสร้างรายได้ ทั้งการขนส่งสินค้า บริการภาคพื้น และครัวการบิน ซึ่งปัญหาหนี้สินเกิดจากภาพรวมอุตสาหกรรมในและต่างประเทศมีการแข่งขันสูง รวมถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่กระทบธุรกิจการบิน การบินไทยปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับ หากไม่ได้รับการฟื้นฟูจะเสียหายต่อเจ้าหนี้ ลูกหนี้ พนักงาน เเละเศรษฐกิจของประเทศชาติ

ทั้งนี้ การบินไทยยังสามารถมีช่องทางการฟื้นฟู ดังนี้ 1. ต้องปรับโครงสร้างหนี้, 2. ต้องเปลี่ยนการบริหารจัดการองค์กร ลดต้นทุน, 3. ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน, 4. ปรับปรุงหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และ 5. ปรับปรุงการหารายได้

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดคือ การบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 และจัดการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เพื่อลงคะแนนให้แผนฟื้นฟูฯ แต่การประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปและจะจัดประชุมเจ้าหนี้อีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo