Business

‘จดหมายจากคนหมดแรง’ สมาคมภัตตาคารไทย วอนบิ๊กตู่ ต่อลมหายใจร้านอาหาร โดนเมินฉีดวัคซีน

สมาคมภัตตาคารไทย วอนเยียวยาบอบช้ำสะสม ผ่าน “จดหมายจากคนหมดแรง” ถึง “บิ๊กตู่” ขอเปิดนั่งทานในร้านต่อลมหายใจ ฉีดวัคซีนร้านอาหารพื้นที่สีแดง

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “ฐนิวรรณ กุลมงคล” จดหมายจากคนหมดแรง จากใจนายก สมาคมภัตตาคารไทย จดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ศบค. วอนช่วยเหลือร้านอาหารเร่งด่วน โดยระบุว่า

สมาคมภัตตาคารไทย

เรียน ท่านนายกรัฐมนตรี

จากข้อเรียกร้อง ที่ทางสมาคมภัตตาคารไทย ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านอาหาร ได้เรียนนำเสนอ ถึงสาเหตุความจำเป็น และความเดือดร้อนของผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการข้อบังคับของ ศบค. โดยเฉพาะการนั่งรับประทานในร้าน สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดไปแล้วนั้น ว่าขณะนี้ มีผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนไม่น้อย อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการต้องปิดกิจการ และหลายรายต้องปิดกิจการไปแล้ว ตามที่ปรากฏให้ได้ทราบในสื่อต่าง ๆ เพราะยอดขายที่หายไป

เนื่องจากรายได้หลักของ ร้านอาหาร 80% มาจากรายได้เปิดนั่งรับประทานในร้าน ซึ่งตลอดช่วงเวลาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ จากมาตรการควบคุม แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารก็ปรับตัว หาวิธีประคับประคองตัวเองมาตลอด พร้อมทั้งยังคงมีการจ้างงาน ไม่ปล่อยให้พนักงานตกงาน และธุรกิจร้านอาหาร ยังเป็นซัพพลายเชน เชื่อมโยงกับภาคการผลิต บริการต่าง ๆ

ธุรกิจร้านอาหาร คิดเป็น 18 % ของGDP ประเทศในปี 2564 นี้ มีหลายหน่วยงานคาดว่าจะเหลือแค่ 4 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ภาคธุรกิจร้านอาหาร ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการควบคุมการแพร่ระบาดด้วยดีมาตลอด

เราแทบไม่ได้ออกมาเรียกร้องการเยียวใด ๆ เลย ถึงแม้ว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านั้น กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร จะเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้น้อยมาก ในทางปฏิบัติ เพราะติดเงื่อนไขข้อบังคับต่าง ๆ มากมาย ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ก็มองผ่าน และตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินช่วยเหลือตัวเองต่อไป เพราะสิ่งที่คนทำร้านอาหาร ให้ความสำคัญมากที่สุด คือการได้เปิดขายตามปกติ เพื่อให้เกิดรายได้กระแสเงินสด หมุนเวียนกลับมา

แต่สำหรับวิกฤติในรอบ 3 นี้ จะเห็นว่าได้ว่า ภาคธุรกิจร้านอาหาร มีข้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ มาเป็นระยะ ๆ เนื่องจากการบอบช้ำสะสม จากวิกฤติในการระบาดรอบที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู เมื่อต้องหยุดให้บริการนั่งรับประทานในร้าน หรือ มีระยะเวลานั่งรับประทานในร้านได้จำกัด ทำให้รายได้หายไป เมื่อรวมกับวิกฤติที่เจอมาในช่วงแรกจึงสะสมจนแบกไว้ไม่ไหว หลายร้านต้องปิดตัว เจ๊งถาวร และอีกหลายร้าน ต้องปิดชั่วคราว รวมถึงอีกหลายร้านกำลังจะเจ๊ง

จึงขอเรียนมายัง ท่านนายกฯ อีกครั้งว่า ข้อสั่งการมาตรการเยียวยาวต่าง ๆ ที่ท่านมีมายังผู้ประกอบการร้านอาหาร แม้บางข้อจะได้รับการดำเนินการจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว เช่น เรื่องการจ่ายเงินชดเชยลูกจ้าง ในระบบประกันสังคม 50% เป็นต้น

ฐนิวรรณ กุลมงคล
ฐนิวรรณ กุลมงคล

แต่ก็ยังมีหลายข้อเรียกร้อง ที่ยังไม่รับการดำเนินการอย่างเหมาะสม ทันเวลา อาทิ เรื่องวัคซีน สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารใน 8 จังหวัดพื้นที่ระบาดรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ที่ขณะนี้มีจำนวนผู้ประกอบการ และบุคคลากรในร้านอาหารพื้นที่ กทม. ลงทะเบียนสมัครใจ ขอรับการฉีดวัคซีนในวันที่ 15-21 พฤษภาคม (รวมเกินกว่า 1 แสนคน) เพราะด้วยคาดหวังว่า วัคซีนจะเป็นทางออก ของการยับยั้งการแพร่ระบาด และช่วยให้ระบบเศรษฐกิจประเทศ กลับมาขับเคลื่อนได้เป็นปกติอีกครั้ง

ยิ่งในภาวะประชนชนยังไม่มั่นใจต่อการฉีดวัคซีน แต่คนภาคธุรกิจร้านอาหาร กลับสมัครใจด้วยความยินดี ในการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม แต่กลับปรากฏว่า การจัดสรรวัคซีนของทาง กทม. ไม่มีส่วนสำหรับผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ที่แสดงความสมัครใจลงทะเบียนขอฉีดวัคซีน กับทางสมาคมภัตตาคารไทยไว้ แต่อย่างใด

หากบุคคลากรภาคธุรกิจร้านอาหาร สามารถได้รับการฉีดวัคซีนได้โดยเร็ว จะเป็นผลดีต่อภาคเศรษฐกิจประเทศโดยตรง และยังมีส่วนในการควบคุมการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจาก ร้านอาหาร มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทั่วไป

สำหรับข้อเสนอ ในส่วนของกรมอนามัย ที่มีต่อร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อนำไปสู่การผ่อนปรน ให้กลับมาเปิดนั่งรับประทานในร้านได้ ซึ่งมีจำนวน 9 ข้อ ดังนี้

1. ต้องให้ร้านอาหารทุกร้านทำแบบประเมิน Thai Stop Covid

2. ปรับลดที่นั่งในร้านเหลือ 25%-50%( สำหรับ open air ร้านเล็ก)

3. เว้นระยะห่าง 2 เมตร

4. นั่งในร้านได้ไม่เกิน 2 ชม.

5. ห้ามกินอาหารร่วมกัน ห้ามกินอาหารในรูปแบบบุฟเฟ่ต์ ต้องแยกอุปกรณ์ของใครของมัน

6. ระบบระบายอากาศในร้านต้องดี

7. คัดกรองพนักงาน ซักประวัติพนักงานทุกคน ทุกวันเพื่อเป็นฐานทะเบียนข้อมูลสำหรับเช็คไทม์ไลน์ความเสี่ยงของพนักงาน

8. พนักงานในร้านทุกคนต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา

9. เข้มงวดพนักงานหลังร้านให้สวมหน้ากากตลอดเวลา

ขอเรียนให้ทราบว่า แม้บางข้อหากปฏิบัติตาม ก็เป็นอุปสรรคในการประกอบกรณีร้านขนาดเช่น ร้านเล็กพื้นที่จำกัดจะเป็นอุปสรรคอย่างมาก แต่ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ก็พร้อมปฏิบัติ เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติโดยเร็ว และจะขอเรียนให้ท่านทราบว่า ร้านอาหารส่วนใหญ่ ได้มีมาตรการป้องกันเข้มงวดด้านสาธารณสุขอย่างดี มากกว่า 9 ข้อนี้อยู่แล้ว จึงมั่นใจได้ว่า หากอนุญาตให้ ร้านอาหาร เปิดนั่งรับประทานในร้านได้ จะไม่เป็นสถานที่แพร่ระบาด หรือ คลัสเตอร์อย่างแน่นอน

ยิ่งหากผู้ประกอบการ และบุคคลากรของร้าน ได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นได้มากขึ้น ดังนั้น จึงขอความเมตตามายังท่าน ให้พิจารณาผ่อนปรนให้ร้านอาหารสามารถเปิดนั่งรับประทานในร้านได้ทันที เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 14 วันของมาตรการข้อบังคับที่ใช้ล่าสุด เพื่อต่อลมหายใจให้กับ ร้านอาหาร ได้ไปต่อ

จึงขอเรียนมาให้ท่านได้ทราบว่า ความห่วงใยที่ท่านนายกฯ มีต่อภาคธุรกิจร้านอาหารในบางเรื่องสำคัญ ยังไม่ได้รับการดำเนินการอย่างเหมาะสม และโดยเร็ว ซึ่งหากปล่อยไว้ หรือรอแก้ไขปัญหา เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว อาจไม่ทันการณ์ และเมื่อถึงเวลานั้น อาจต้องใช้งบประมาณมากมายในการฟื้นฟู แต่หากช่วยให้ ร้านอาหาร ได้ดำเนินกิจการเป็นปกติได้ทันที เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 14 วัน ธุรกิจนี้ก็จะค่อย ๆ ฟื้นฟูได้ด้วยตัวเองต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo