Business

ตรวจ รักษาโควิด ฟรี!! อ่านเงื่อนไขให้ชัดเจน ไม่เคลียร์มีสิทธิเสียเงิน

ตรวจ รักษาโควิด ฟรี สปสช. แจงชัด ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง แพทย์พิจารณาแล้วว่าควรเข้ารับการตรวจ และต้องรักษาตามขั้นตอนที่ รพ.จัดให้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีความรุนแรงมากกว่ารอบก่อนหน้านี้ และทาง สปสช. ได้ยืนยันมาตลอดว่า คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทุกคน มีสิทธิได้รับการ ตรวจ รักษาโควิด ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะไปรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน โดยให้โรงพยาบาลเอกชน มาเก็บค่ารักษาที่ สปสช. แทน

ตรวจ รักษาโควิด

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางส่วน ที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ในเรื่องการใช้สิทธิ ตรวจและรักษาโควิด-19 ฟรี โดยจากข้อมูลของสายด่วน 1330 พบว่า มีประชาชนบางส่วน ที่ได้ยินว่า สปสช.ให้ตรวจฟรี จึงเดินทางไปตรวจ แต่พอคัดกรองแล้ว ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ก็โดนเรียกเก็บเงิน ซึ่งขณะนี้ มีกรณีลักษณะนี้ ร้องเรียนเข้ามากว่า 700 กรณี

ดังนั้นจึงขอชี้แจงอีกครั้งว่า ผู้ที่สามารถตรวจคัดกรองฟรี ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหมายถึง คนที่เคยเดินทางไป หรือพักอาศัย ในพื้นที่ที่มีการระบาด มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือมีอาการตามเกณฑ์ที่กำหนด และต้องให้หมอสั่งตรวจ เป็นต้น อีกทั้งการออกตรวจคัดกรองเชิงรุก ก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน

ทั้งนี้ หากสงสัยว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แล้วเล่าประวัติกับแพทย์ หรือพยาบาล ให้วินิจฉัยว่า เข้าข่ายให้ตรวจได้ จึงเข้าเงื่อนไขตรวจฟรี แต่ในกรณีที่บางคนเข้าไปตรวจแบบ ไดร์ฟ ทรู หรือขับรถเข้าไปตรวจ ไม่ได้พบแพทย์ ก็ไม่เข้าเกณฑ์ตรวจฟรี ดังนั้นจึงต้องเป็นดุลยพินิจของแพทย์

นอกจากนี้แล้ว ก็ยังเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่เข้าข่ายข้างต้น แต่อาจมีอาการไม่สบาย ใกล้เคียงกับโรคโควิด-19 หรือรู้สึกไม่สบายใจ ไม่มั่นใจว่า ตัวเองอยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ฟรี โดยให้ไปพบแพทย์ก่อน หากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า สมควรเข้ารับการตรวจ ก็สามารถไปตรวจได้ฟรี เช่นกัน เพราะเป็นดุลยพินิจของแพทย์

20210512143754583

“ที่เราต้องให้ไปพบแพทย์ก่อน ก็เพราะว่า เราอยากให้อย่างน้อยได้เจอหมอ ให้หมอได้ซักประวัติ ได้ประเมินความเสี่ยงในเบื้องต้นก่อน มันไม่ควรมีเหตุการณ์ที่คนไข้เดินไปเอง ขอตรวจเอง กลับมาบ้านเอง” นพ.จเด็จ กล่าว

กรณีที่ไปรับบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ ไดร์ฟ ทรู ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิตรวจฟรีเช่นกัน เพราะไม่ได้พบแพทย์ เพื่อซักประวัติ ตรวจสอบความเสี่ยงมาก่อน รวมทั้งกรณีที่ไปสมัครงาน หรือบริษัทที่ทำงานให้ไปตรวจ เพื่อเอาผลการตรวจไปใช้รับรองการเข้าทำงาน ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิตรวจฟรีได้เช่นกัน และขอความร่วมมือไปยังบริษัทต่าง ๆ ไม่ควรมีข้อกำหนดในลักษณะนี้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ

นอกจากกรณีการตรวจคัดกรองแล้ว กรณีตรวจพบว่า ติดเชื้อ และเข้ารับการรักษาฟรี ก็ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเช่นกัน ซึ่งการจะได้รับการรักษาฟรี คือ รักษาไปตามขั้นตอน และกระบวนการที่โรงพยาบาล หรือแพทย์พิจารณาจัดการให้

แต่บางรายพบว่า อยากได้สิ่งที่เป็นการอำนวยความสะดวก เช่น เลือกไปรับบริการโรงพยาบาลเอกชน แล้วถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลสนาม แต่ไม่อยากไป และขอเลือกอยู่ห้องเดี่ยว ห้องแยก ในโรงพยาบาลเอกชน จึงไม่เข้าข่ายที่จะได้รับสิทธิในการรักษาฟรี เพราะเป็นการเลือกรับบริการเอง ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเอง ทั้งกระบวนการรักษา

ยกตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยรายหนึ่งไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยสอบถามว่า ใช้สิทธิรักษาฟรีของรัฐบาลได้หรือไม่ โรงพยาบาลแจ้งว่าหากใช้สิทธิรัฐบาล จะต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม หากชำระเงินเอง ถึงจะมีห้องแยกให้ ผู้ป่วยเลือกที่จะชำระเงินเอง เพื่อให้ได้อยู่ห้องแยกเดี่ยว โดยรักษาตัวในโรงพยาบาล จนรักษาเสร็จ และกลับมาพักที่บ้านแล้ว ได้รับแจ้งว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องจ่ายเอง ก็มาร้องเรียนขอเงินคืน เพราะติดใจว่า รักษาฟรีทุกที่ ไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น

“ขอย้ำว่า การจะจัดส่งไปที่ไหน หรือจัดการรักษาให้แบบใด ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้พิจารณา ตามอาการของผู้ป่วย ถ้าติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย ก็ไปโรงพยาบาลสนาม ถ้าอาการหนัก ก็ต้องอยู่ในโรงพยาบาล อยู่ในห้องไอซียูก็ว่ากันไป”นพ.จเด็จ กล่าว

ที่สำคัญคือ ในภาวะแบบนี้ โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง เตียงค่อนข้างหนาแน่น ถึงแม้อยากจะเลือก หรือมีเงินจ่าย ก็ใช่ว่าจะได้ตามที่ต้องการเสมอไป ดังนั้น ขอความร่วมมือผู้ป่วย ปฏิบัติตามคำแนะนำ ที่แพทย์ หรือโรงพยาบาลจัดให้ อาจจะไม่สะดวกสบายเหมือนอยู่บ้าน หรืออยู่ห้องพิเศษ แต่ตอนนี้เราอยู่ในภาวะวิกฤติ การจัดการต่าง ๆ มุ่งไปที่การควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุด และบริหารจัดการการรักษา เพื่อไม่ให้เกินศักยภาพ ที่ระบบสาธารณสุข จะรองรับได้เป็นหลัก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo