Business

พิษโควิด-19 ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค เมษายน 64 ‘ลดฮวบ’ ทุกภาค ทุกอาชีพ

ความเชื่อมั่นผู้บริโภค เมษายน 64 ลดวูบ ทุกภาค ทุกอาชีพ เซ่นพิษโควิดระบาดระลอกใหม่ ลุ้นคุมการระบาด เร่งฉีดวัคซีน หวังกระตุ้นเชื่อมั่นฟื้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภค เมษายน เม.ย. 2564 ปรับตัวลดลงอีกครั้งมาอยู่ที่ระดับ 43.5 จาก 47.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับลดลงทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในปัจจุบัน และในอนาคต ในทุกภาคและทุกอาชีพ

ความเชื่อมั่นผู้บริโภค เมษายน

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 40.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับลดลงจากระดับ 52.3 มาอยู่ที่ระดับ 48.2 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

หากแยกเป็นรายภูมิภาค พบว่า ลดลงในทุกภูมิภาค โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 47.5 มาอยู่ที่ระดับ 41.5 ภากลาง ลดจาก 45.3 มาอยู่ที่ 44.2 ภาคเหนือ ลดจาก 45.8 มาอยู่ที่ 43.5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดจาก 49.6 มาอยู่ที่ 45.3 และภาคใต้ ลดจาก 48.5 มาอยู่ที่ 44.1

เมื่อจำแนกรายอาชีพ พบว่า ลดลงทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มไม่ได้ทำงาน ปรับลดลงจากระดับ 42.9 มาอยู่ที่ระดับ 37.2 กลุ่มรับจ้างอิสระ ลดจาก 45.1 มาอยู่ที่ 41.0 เนื่องจากทั้งสองกลุ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด และมีความไม่มั่นคงในการดำรงชีพ

ส่วนกลุ่มพนักงานของรัฐ ลดจาก 52.5 มาอยู่ที่ 49.6 เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และยังคงมีความเชื่อมั่นสูงกว่าทุกกลุ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการ ลดจาก 49.3 มาอยู่ที่ 43.1 พนักงานเอกชน ลดจาก 45.7 มาอยู่ที่ 42.4 เกษตรกร ลดจาก 47.7 มาอยู่ที่ 44.3 และนักศึกษา จาก 45.9 มาอยู่ที่ 41.6

นายภูสิตกล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการระบาดของโควิค-19 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ และต้องเข้าใจถึงความกังวลที่เกิดขึ้น และในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงถือเป็นเรื่องปกติ

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

แต่การลดลงในครั้งนี้น้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เทียบกับการระบาดรอบแรกในเดือนก.พ.2563 ที่ค่าดัชนีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.1 การระบาดในเดือนกรกฏาคม 2563 ดัชนีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.0 และการระบาดในเดือนมกราคม 2564 ดัชนีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.2

“จะเห็นได้ว่าการระบาดในรอบนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะมาจากการที่เรายังมีความหวังจากวัคซีน ที่จะทยอยดำเนินการได้ต่อเนื่อง และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้วัดต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของรัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยให้ประชาชนบางส่วนยังเชื่อมั่น”นายภูสิตกล่าว

ขณะที่ สนค.ประเมินว่า หากสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาด ให้กลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดได้โดยเร็ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจอันเข้มแข็ง และแนวโน้มการฟื้นตัวที่มีสัญญาณดีขึ้นอย่างชัดเจน ในช่วงก่อนการระบาด

ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในหลากหลายรูปแบบ น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศ กลับเข้าสู่ทิศทางเดิม และพร้อมจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง และจะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทย ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับได้

ก่อนหน้านี้ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนเมษายน 2564 จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในรอบ 271 เดือนหรือ 22 ปี 7 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจ ในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เนื่องจากความกังวลในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในรอบที่ 3 ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก และขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” และโครงการต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ ให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ ในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo