Business

เยียวยา ‘ลูกจ้างธุรกิจอีเว้นท์’ ตกงานจากโควิด จ่าย 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน

เยียวยา ลูกจ้างธุรกิจอีเว้นท์ สุชาติ รับลูก บิ๊กตู่ สั่งการ สปส.พิจารณาข้อกฏหมาย เข้าเงื่อนไขเยียวยาว่างงานโควิด-19 จ่าย 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเว้นท์และที่เกี่ยวข้อง จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี  ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับทราบแล้วและสั่งการให้ สำนักงานประกันสังคม ไปพิจารณาข้อกฎหมาย พบว่าสามารถ เยียวยา ลูกจ้างธุรกิจอีเว้นท์ ได้ โดยเข้าเงื่อนไขกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 สามารถจ่ายเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน

เยียวยา ลูกจ้างธุรกิจอีเว้นท์

สำหรับ ผู้ประกอบการธุรกิจอีเว้นท์ และธุรกิจเกี่ยวข้อง ได้เตรียมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงยื่นหนังสือถึงตนในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้ภาครัฐ มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ประกอบการในธุรกิจอีเว้นท์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดในประเทศไทยระลอกแรก ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เรื่อยมา จนถึงการระบาดอย่างรุนแรงในระลอก 3 นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่า บางประเภทกิจการ ภาครัฐมิได้สั่งให้ปิด แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องปิดกิจการไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไปได้ และยังมองไม่เห็นว่า สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อใด

“ผมได้นำเรียน ท่านนายกรัฐมนตรีทราบแล้ว และท่านได้สั่งการให้ สำนักงานประกันสังคม ไปพิจารณาข้อระเบียบกฎหมาย ว่าเข้าเงื่อนไงดังกล่าวหรือไม่อย่างไร และได้ข้อสรุปแล้ว”นายสุชาติ กล่าว

จากการพิจารณาแนวทางการจ่ายประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ตามกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 (เพิ่มเติม) พบว่า มีเงื่อนไข ดังนี้

  • ทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว

การสั่งให้ปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่ เช่น สถานที่จัดนิทรรศการ ศูนย์การแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการในสถานที่ดังกล่าวได้ เช่น ประเภทกิจการที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดประชุม การจัดสัมมนา การจัดเลี้ยงทั้งในและนอกสถานที่ หรือกิจกรรมอื่นในลักษณะเดียวกันที่กระทำในสถานที่นั้นๆ

สุชาติ
สุชาติ ชมกลิ่น
  • ระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย

ให้พิจารณาจากการปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่ โดยให้เป็นไปตามที่ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัด หรือคำสั่งของทางราชการ ที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายกำหนด ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง คราวละไม่เกิน 90 วัน

  • ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง จากหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ที่นายจ้างรับรอง ในประเด็นที่นายจ้างไม่ได้ประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ตามคำสั่ง/ประกาศของทางราชการ โดยลูกจ้างไม่ได้ทำงาน และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

สำนักงานประกันสังคม ได้พิจารณาข้อกฎหมายประเด็นดังกล่าว ปรากฎว่าเข้าเงื่อนไขกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 สามารถจ่ายเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน

ทั้งนี้ ผู้ประกันตน ต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทน โดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้าง และหนังสือรับรองการหยุดงาน กรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว

เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้น ให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e- Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

นอกจากนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่สะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายอุปถัมป์ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน EMA
อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ

ก่อนหน้านี้ นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน หรือ EMA และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด กล่าวว่า ได้เตรียมยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในธุรกิจอีเว้นท์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องจากการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2563 และมาตรการปิดสถานที่ของภาครัฐ ส่งผลให้มีผู้ประกอบการบางส่วน ได้ปิดกิจการเป็นการชั่วคราว และบางส่วนได้ปิดกิจการเป็นการถาวรแล้ว กว่าร้อยละ 60 ส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานจำนวนมาก

จากการประเมินมูลค่าความเสียหายของอุตสาหกรรมอีเว้นท์ ที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 13,000 ล้านบาท พบว่า ในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างหนัก และสูญเสียรายได้กว่าร้อยละ 70-80 หรือราว 10,000 ล้านบาท และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อจะทำให้เสียหายอีกไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,000 ล้านบาท

ดังนั้น สมาคมธุรกิจสร้างสรรการจัดงาน หรือ EMA ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการในธุรกิจอีเว้นท์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ จึงได้ทำหนังสือดังกล่าว เพื่อให้ทางภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่กล่าวถึงข้างต้น ประกอบด้วย

1. ให้ภาครัฐช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานในอัตรา 50% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4-6 เดือน หรือจนกว่าธุรกิจจะดำเนินกลับสู่สภาวะปกติ

2. ผ่อนผันค่าใช่จ่ายประกันสังคมส่วนนายจ้างและลูกจ้างเป็นระยะเวลา 6 เดือน

3. นายจ้างที่หยุดกิจการชั่วคราว ขอให้ลูกจ้างที่ว่างงานได้รับประโยชน์ทดแทน จากกองทุนประกันสังคม 50-62%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo