Business

แผนฟื้นฟูชี้ชัด การบินไทยต้องใส่ ‘เงินกู้ก้อนใหม่-เพิ่มทุน’ (ตอน 2)

การบินไทยฟื้นฟู คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย วางเป้าฟื้นฟูองค์กร หวังเป็นแอร์ไลน์เอกชนคุณภาพสูง แต่ยังขาดกระแสเงินสด ขณะที่ธุรกิจการบินยังสาหัสถึงปี 67 เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 การบินไทยจะอยู่รอดต้องลดพนักงาน-ผู้บริหาร สอดคล้องกับการลดฝูงบิน ย้ำปี 64-68 การบินไทยจะมีกระแสเงินสด จากเงินกู้ก้อนใหม่ และการเพิ่มทุน  

The Bangkok Insight นำเสนอข้อมูลแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ตามที่คณะผู้ทำแผนฟื้นฟู ได้จัดทำรายละเอียดของแผน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้วันที่ 12 พฤษภาคม 2564

การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างครอบคลุม โดย การบินไทย ได้จัดทำแผนการเปลี่ยนแปลงธุรกิจขึ้นมา เพื่อพัฒนาสถานะของบริษัท และทำให้บริษัทสามารถกลับมาทำรายได้ และกำไร อย่างยั่งยืน การบินไทย ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และมีความริเริ่มในด้านต่าง ๆ ทั้งยังเริ่มปฏิรูปธุรกิจ ตามแผนการปฏิรูปที่เริ่มจากระดับล่างขององค์กร มีการริเริ่มดำเนินการต่าง ๆ ไปแล้วมากกว่า 600 โครงการ ที่มุ่งเน้นถึงการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และเพื่อการปฏิรูป โดยแผนการแสดงรายละเอียด กำหนดเวลา และบุคคลที่รับผิดชอบในแต่ละโครงการอย่างชัดเจน

วางเป้าสายการบินเอกชนคุณภาพสูง

การบินไทยจะพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงาน ผ่านโครงการปฏิรูป เพื่อฟื้นฟูองค์กรขึ้นมา ภายใต้วิสัยทัศน์ การบินไทยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวม ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่

การบินไทยฟื้นฟู

1. เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก ด้วยทางเลือกผลิตภัณฑ์ตามความพึงพอใจของลูกค้า โดยการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณภาพสูงโดยมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นำเสนอตั๋วเครื่องบินราคาย่อมเยา สำหรับลูกค้า และเพิ่มทางเลือกให้มากขึ้น อาทิ การเลือกที่นั่ง และค่าธรรมเนียมกระเป๋าสัมภาระ

2. เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ ด้วยการปรับปรุงด้านการพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้น หารายได้มากขึ้น โดยมีผลตอบแทนรายได้และกำไรของธุรกิจจากการนำเสนอบริการเสริมเพื่อเป็นตัวเลือกอย่างเต็มรูปแบบ และมีการผสมผสานช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ที่ทำให้เกิดการตลาดแบบผสมผสานกันในหลากหลายช่องทาง (Omnichannel) อีกทั้งเพิ่มความแข็งแกร่งทางการพาณิชย์ด้วยการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการพาณิชย์อย่างเข้มข้น

3. การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ อาทิ การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบิน ที่เป็นประโยชน์ต่อการบินไทย การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเข้มงวด รวมถึงการปรับลดความซับซ้อนของโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อให้มีความกระชับมากขึ้น การปรับลดจำนวนพนักงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ ได้

4. เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการและความปลอดภัย เป็นศูนย์กลางการเชี่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่าง ๆ ในประเทศไทย พัฒนาศักยภาพและความสามารถของพนักงานในทุกมิติ รวมถึงผู้บริหารและพนักงานระดับปฏิบัติการ และพิจารณาจ้างงานผู้บริหารชั่วคราว ในด้านที่จำเป็นกับธุรกิจการบิน ภายใต้การนำของหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร (ซีทีโอ) เพื่อประสานและทำให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ และเป็นเอกภาพของพนักงานทุกคน การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงทัศนคติของพนักงานภายในองค์กร

มีการปรับปรุงระบบการปฏิบัติงาน และกระบวนการทำงานให้มีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยวิธีการทำงานแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรม การกำหนดดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI) และแรงจูงใจ (Incentives) ที่เหมาะสม ให้สอดคล้องไปกับความสำเร็จของแผนปฏิรูปธุรกิจ และการทบทวนแผนพัฒนาการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงานระดับโลกในภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน เพื่อให้การบินไทยสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การบินไทย88

ยังไม่มีกระแสเงินหมุนเวียนมากพอ

ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย คาดการณ์สถานะทางการเงินการบินไทย สำหรับปี 2564-2578 เพื่อใช้ในการประเมินผลการดำเนินงาน และเตรียมพร้อมสำหรับแผนการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ โดยได้มีการรวมรายได้ และค่าใช้จ่าย ที่อาจจะเกิดขึ้น เข้าไว้ในการคาดการณ์นี้ด้วย

กลุ่มที่ปรึกษา ของการบินไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบิน ได้นำปัจจัยอย่าง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แนวโน้มอุตสาหกรรมการบิน วิธีที่จะฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย เข้ามาใช้เป็นตัววัด ในการประเมินสถานะการเงินของการบินไทย

นอกจากนี้ ผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ยังได้นำรายงานสถานะการเงินของการบินไทย นับถึงวันที่ 14 กันยายน 2563 มาเป็นข้อมูลพื้นฐาน สำหรับประเมินสถานะการเงินในอนาคต ในแบบที่ไม่มีการปรับโครงสร้าง เนื่องจากในช่วงระยะเวลาประมาณการทางการเงินดังกล่าว การบินไทย จะยังไม่มีกระแสเงินสดหมุนเวียนที่มากพอ สำหรับการทำข้อตกลงชำระหนี้ทั้งหมดได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่การบินไทย จะต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้แผนการชำระหนี้ ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความสามารถของบริษัท ที่จะสร้างกระแสเงินหมุนเวียนในอนาคตได้

การบินไทยฟื้นฟู

ประเมินการบินจะยังไม่ปกติจนถึงปี 2567

สำหรับตัวเลขคาดการณ์ กำไร-ขาดทุน โดยรายได้จากการขายและบริการ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ รายได้จากธุรกิจการบิน และธุรกิจนอกภาคการบิน

รายได้จากธุรกิจการบิน

การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจของสายการบินทุกรายหยุดชะงักอย่างกระทันหัน ทำให้สายการบินต่าง ๆ ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสอย่างยาวนาน สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) คาดการณ์ว่า รายได้ของสายการบินทั่วโลก จะลดลงราว 55-60% เมื่อปี 2563 และการเดินทางทางอากาศ จะไม่กลับสู่ภาวะปกติอย่างน้อยจนถึงปี 2567

ดังนั้นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย จึงได้ดำเนินการคาดการณ์ ที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานของการฟื้นตัวใน (Available Seat Kilometers: ASK) และรายได้ต่อ ASK ของการบินไทย โดยอ้างอิงถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินหลังยุคโควิด การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการห้ามเดินทางข้ามชาติ ในกรณีนี้ รายได้จากธุรกิจการบิน ในตัวเลขคาดการณ์นั้น รวมถึงรายได้จากผู้โดยสาร ค่าน้ำหนักสัมภาระที่เกินจากอนุญาต การขนส่งสินค้า และส่งพัสดุ

ส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน รวมถึงรายได้จากบริการครัวการบิน บริการจัดการภาคพื้นดิน บริการซ่อมบำรุง และบริการขนส่งสินค้า ที่รวมแล้วคิดเป็น รายได้ราว 5-10% ของรายได้รวมทั้งหมด จากฝ่ายขายและบริการ โดยมีลูกค้าหลักเป็นสายการบินรายอื่น ๆ

ผู้จัดทำแผนฟื้นฟู คาดการณ์รายได้ของธุรกิจเหล่านี้ บนพื้นฐานของอัตราการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน แบบเดียวกับที่ใช้ในการประเมินรายได้ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน

ทั้งนี้ ยังมีการจัดพอร์ทของบริษัทในเครือ เพื่อให้เหมาะสมกับการแข่งขัน และตลาดในอนาคต ทั้งยังมีการพิจารณาถึงพันธมิตรทางธุรกิจที่เหมาะสม โดยอาจจะมีการปรับหลักการของผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย

ต้องลดพนักงานให้เหมาะกับลดขนาดฝูงบิน

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน รวมถึงค่าใช้จ่ายพื้นฐาน อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายนักบิน และลูกเรือ ค่าบริการเที่ยวบิน ค่าเสื่อม และค่าตัดราคาจำหน่าย สิทธิในการใช้เครื่องบิน
ผู้จัดทำแผน ยังประเมินถึงการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน และการใช้เครื่องบินอย่างเหมาะสม เจรจาเช่าซื้อเครื่องบิน และบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ  ของแผนการปรับปรุงธุรกิจ ต้นทุนการดำเนินงาน จะเป็นไปอย่างสมเหตุ สมผลมากขึ้น เพื่อให้การบินไทย สามารถบริหารจัดการ และแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจัยอื่นที่อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น คือ การปรับลดจำนวนพนักงาน ให้เหมาะสมกับการลดขนาดฝูงบิน และองค์กร สอดคล้องกับแนวทางการลดจำนวนพนักงานลงมา ตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะต้องมีการจ่ายเงินชดเชย ที่จะนำไปรวมไว้กับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน สำหรับธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน รวมถึงค่าใช้จ่ายหลัก อย่างค่าวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงานโดยตรง ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย การบินไทย มีแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลงมา ให้สอดคล้องกับแผนการหลักที่วางไว้

การบินไทยฟื้นฟู

ลดจำนวนผู้บริหารให้เหมาะกับองค์กร 

ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจัดการ ประกอบด้วย ค่าชดเชยสำหรับเงินเดือน และผลประโยชน์อื่น ๆ ของพนักงาน ค่าโฆษณา ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่น ๆ

ผู้เขียนแผนประเมินบนพื้นฐานของ ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าบริหารจัดการ ที่แท้จริงของปี 2563 ยิ่งไปกว่านั้น ในการประเมินถึงค่าใช้จ่ายพนักงานนั้น ผู้เขียนแผนประเมินว่า การบินไทย จะต้องลดจำนวนพนักงาน และผู้บริหารลงมา ให้เหมาะสมกับขนาดขององค์กร ทั้งการจ่ายเงินชดเชย และผลประโยชน์ต่าง ๆ จะปรับให้สอดคล้องกับมาตรวัดของอุตสาหกรรม และให้สอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กรในระยะเวลา 5 ปี

แม้แผนฟื้นฟูจะคาดการณ์ถึงสถานะการเงินในอนาคตไว้ โดยประเมินว่า จะมีกำไรจากการดำเนินงานสุทธิ แต่การบินไทย ยังไม่สามารถที่จะรับตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวได้ หากไม่สามารถดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการชำระเงินให้กับเจ้าหนี้

ในส่วนของฐานะการเงินที่คาดการณ์ไว้ ผู้จัดทำแผนใช้งบแสดงสถานะการเงิน นับถึงวันที่ 14 กันยายน 2563 เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการประเมินงบสถานะการเงินของการบินไทย

โดย ทรัพย์สิน ที่ปรับเปลี่ยนตามการคาดการณ์ในอนาคตของการบินไทย ได้แก่ เงินสด เงินที่ลูกค้าค้างชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการ และสินค้าคงคลัง

นอกจากนี้ ผู้จัดทำแผน ยังคาดการณ์ ถึงการเปลี่ยนแปลงสิทธิ ในการใช้สินทรัพย์จากสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน โดยการนำสัญญาเช่าซื้อ ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่16 มารวมไว้ในการคาดการณ์สิทธิในการใช้สินทรัพย์ ซึ่งสิทธิในการใช้สินทรัพย์นี้ น่าจะลดลงไปในแต่ละปี จากค่าเสื่อมราคา และการตัดจำหน่าย ทั้งผู้จัดทำแผน ยังตั้งสมมติฐานว่า สินทรัพย์อื่น ๆ จะยังไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนหนี้สิน ตลอดช่วงระยะเวลาของการคาดการณ์กระแสเงินสดนั้น การบินไทยจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ที่ได้มาจากลูกค้า ที่ค้างชำระค่าสินค้า หรือค่าบริการ กระแสเงินสดจากการจำหน่ายสินทรัพย์ ที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลัก เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูนี้

ดังนั้น หนี้สินของการบินไทยจะค่อย ๆ ลดลง ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูยังประเมินว่า ในช่วงปีที่จัดทำคาดการณ์งบการเงินนี้ หนี้สินจากสัญญาเช่าซื้อ ของการบินไทยจะลดลงไปเพราะมีการชำระคืนเป็นงวด ๆ

การบินไทยฟื้นฟู

ต้องมีเงินกู้ก้อนใหม่-การเพิ่มทุน

ประมาณการกระแสเงินสด จากการประมาณการกระแสเงินสด พบว่า กระแสเงินสดที่สำคัญของการบินไทย ส่วนใหญ่มาจากการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังคาดว่า จะมีกระแสเงินสด จากการลงทุน ภายใต้แผนการเปลี่ยนแปลงธุรกิจตลอดปี 2563 ถึง 2568 โดยภายในปี 2568 คาดว่า การบินไทย จะยังสามารถรักษากระแสเงินสด

สำหรับการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเอาไว้ได้ ระหว่างปี 2564-2568 การบินไทย จะมีกระแสเงินสด จากการหาเงิน ทั้งเงินกู้ก้อนใหม่ และการเพิ่มทุน การคาดการณ์ทางการเงินในอนาคต บ่งชี้ว่า การบินไทย จะมีความสามารถในการชำระหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้ และบรรลุเป้าหมายของแผนฟื้นฟูนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า จะต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม

แนวทางการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่

ในการปรับโครงสร้างธุรกิจของการบินไทย มีคำขอรับชำระหนี้จำนวน 13,333 รายการ ที่เจ้าหนี้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำนวนเงินค่าสินไหมทดแทน สำหรับการปรับโครงสร้างตามแผนนี้รวม 410,140,784,872.22 บาท ประกอบด้วยจำนวนเงินที่คาดว่าจะได้รับ 404,151,522,773.70 บาท และ ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่าย จำนวน 5,989,262,098.52 บาท

ในเรื่องนี้ ผู้จัดทำแผนฟื้นฟู และเจ้าหนี้ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอชำระหนี้บางรายการ ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดังนั้นจำนวนหนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับคำสั่งขั้นสุดท้ายในการชำระหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และ/หรือศาล (แล้วแต่กรณี)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight