Business

เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทย! ผงะยอดหนี้ 336,469 ล้าน-เงินสดมีไม่ถึงหมื่นล้าน เสนอแผนเจ้าหนี้ 12 พ.ค. นี้ (ตอน1)

เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทย ผงะพบสินทรัพย์หมุนเวียนลดลง เงินสดมีไม่ถึงหนึ่งหมื่นล้าน ยอดหนี้ ถึงเดือนกันยายน 63 อยู่ที่ 336,469 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินจาก เจ้าหนี้การค้า-หนี้สัญญาเช่าเพิ่มขึ้นจากการปรับมาตรฐานการลงบัญชี-ผิดนัดชำระหนี้สัญญาเงินกู้ เข็นแผนปรับปรุงธุรกิจ วิสัยทัศน์และพันธกิจ ชี้จุดแข็ง “การบินไทย” ยังเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ 12 พ.ค.นี้ 

The Bangkok Insight นำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ที่คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย เตรียมเสนอในที่ประชุมให้เจ้าหนี้อนุมัติ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ก่อนที่จะเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ ไปยังศาลล้มละลายกลางภายในปลายเดือนนี้ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการบินไทย ประกอบด้วย

การบินไทย099 1

 

สินทรัพย์

โดยสินทรัพย์รวมของการบินไทย นับถึงวันที่ 14 กันยายน 2563 อยู่ที่ 301,959 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 40,275 ล้านบาท หรือ 15.4% โดยมีสาเหตุหลักดังนี้

สินทรัพย์หมุนเวียน ลดลง 26,384 ล้านบาท เพราะการลดลงของเงินสด โดยมี เงินสดอยู่ราว 9,929 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น ๆ ลดลง 16,335 ล้านบาท เนื่องจากการจัดประเภทรายการบางรายการ จากสินทรัพย์หมุนเวียนไปเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ในงบการเงินใหม่ ได้แก่ เงินฝากธนาคารกองทุนบำเหน็จบำนาญ และบัญชีลูกหนี้การค้า จากสัญญาเช่าซื้อที่เกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งสำรองบัญชีลูกหนี้การค้า จาก สายการบินไทย สมายล์ ด้วย

สิทธิในการใช้สินทรัพย์ถูกลงบัญชี ไว้ที่ 164,459 ล้านบาท หรือ 54.5% ของสินทรัพย์โดยรวม ประกอบด้วยสินทรัพย์ภายใต้สัญญาเช่า ภาระผูกพันตามสัญญาเช่าเครื่องบิน และสัญญาเช่าสินทรัพย์คงที่อื่น ๆ เป็นผลมาจากการบังคับใช้สัญญาเช่าชื้อ ตามมาตรฐานจัดทำบัญชี TFRS 16 ซึ่งบังคับใช้กับรอบบัญชีวันที่ 1 มกราคม 2563 หรือ หลังวันที่ 1 มกราคม 2563

ทั้งนี้ สัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน ซึ่งถูกลงบัญชีไว้ในหัวข้อ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกจัดประเภทใหม่ เป็นทรัพย์สินที่มีสิทธิใช้งาน ส่งผลให้ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ต่าง ๆ มีมูลค่าลดลงมาอยู่ที่ 98,997 ล้านบาท ณ วันที่ 14 กันยายน 2563

การบินไทย01

หนี้สิน

ยอดหนี้สินโดยรวมนับถึงวันที่ 14 กันยายน 2563 อยู่ที่ 336,469 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่ 93,952 ล้านบาท หรือ 38.7% ส่วนใหญ่มีสาเหตุ ดังนี้

เจ้าหนี้การค้า และหนี้สินหมุนเวียนอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่ การบินไทย ยังคงอยู่ภายใต้การพักบังคับชำระหนี้
หนี้สินจากสัญญาเช่าเพิ่มขึ้น ตามมาตรฐานจัดทำบัญชี TFRS 16 ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
การผิดนัดชำระหนี้ และหนี้สินคงค้าง ก่อให้เกิดหนี้สินระยะยาว เช่น สัญญาเงินกู้เช่าซื้อ และหุ้นกู้ ที่กลายมาเป็นหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมด ตามข้อกำหนด และเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาที่เกี่ยวข้อง

ส่วนของผู้ถือหุ้น

สัดส่วนผู้ถือหุ้นของการบินไทย มีมูลค่าลดลงจาก 19,170 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็น ติดลบ 34,510 ล้านบาท ณ วันที่ 14 กันยายน 2563 สาเหตุหลักมาจาก ผลการขาดทุนจากการดำเนินงานของการบินไทยในช่วง 1 มกราคม-14 กันยายน 2563

เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทย ต่อเจ้าหนี้

แผนการปรับปรุงธุรกิจ

จุดแข็ง

ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรสามารถทำลาย ความแข็งแกร่งแบรนด์ที่นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของการบินไทยได้ และทรัพยากรที่มีอยู่ในมืออย่างหลากหลาย ก็สามารถพัฒนาต่อไปได้ โดย การบินไทย เป็นแบรนด์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดีในระดับสากล และพนักงานของบริษัท ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่อุทิศตนอย่างมากในการให้บริการ มีฐานลูกค้าอันเข้มแข็ง ที่มีรากฐานมาจากความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ทั้งยังมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน จากปัจจัยภายนอกหลายอย่าง อาทิ เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยือน และกลยุทธ์การวางประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค

การบินไทย เป็นบริษัทจดทะเบียน ที่ให้บริการสายการบินเต็มรูปแบบ มีชื่อเสียงในด้านคุณภาพการให้บริการ ที่เทียบเท่ากับมาตรฐานโลก มีชื่อเสียงในต่างประเทศ รวมถึงรางวัลในด้านคุณภาพ และความยอดเยี่ยม ต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการรับประกัน ถึงสถานะที่ได้รับความชื่นชมและเป็นที่ยอมรับของลูกค้า และพันธมิตรทั่วโลกมานานกว่า 60 ปี

การบินไทย88

การบินไทย ยังช่วยสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทย และเป็นสายการบินเพียงรายเดียวเท่านั้น ที่มีเที่ยวบิน และเส้นทางบิน ไปยังจุดหมายสำคัญทั่วโลก ด้วยเครือข่ายการบินที่มีอยู่ทั่วโลก และยังมีเครื่องมือสำคัญ คือ Loyalty Program อย่าง “รอยัล ออร์คิด พลัส” ที่มีสมาชิกมากกว่า 4 ล้านราย จากภาคส่วนต่าง ๆ อีกทั้งยังมี ไทย สมายล์ แอร์เวย์ส สายการบินที่การบินไทยถือหุ้นเต็ม 100% ที่สามารถให้บริการทั้งเที่ยวบินภายในประเทศ และเส้นทางบินภายในภูมิภาค

จุดแข็งของการบินไทย ยังอยู่ที่ธุรกิจที่ไม่ใช่เที่ยวบินโดยสารด้วย อย่างเช่น บริการขนส่งสินค้าและพัสดุ บริการต้อนรับภาคพื้นดิน อุปกรณ์ภาคพื้นดิน ครัวการบิน  ซ่อม-บำรุงและยกเครื่องบิน บริการทางเทคนิค ขายสินค้าปลอดภาษีบนเครื่องบิน ขายของที่ระลึก และบริการเครื่องบินจำลอง ทั้งหมดนี้นับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการคมนาคมขนส่งทางอากาศ และเป็นสิ่งที่การบินไทยมีทรัพยากรอยู่ทั้งหมด

โดยการบินไทย ยังมีพนักงาน ที่มีความเชี่ยวชาญ และได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ในธุรกิจด้านต่าง ๆ เป็นทรัพยากรบุคคล ที่มีความเข้าใจในงานเป็นอย่างดี ทั้งยังมีทัศนคติที่ดี ในการให้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจของการบินไทยแข็งแกร่ง และสามารถยกระดับการพัฒนาให้มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

วิสัยทัศน์ และพันธกิจ

การบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติ ที่มีประวัติน่าภาคภูมิใจ และเป็นผู้ให้การสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ ของประเทศ ดังนั้นการบินไทย จึงมีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ และจำนวนนักท่องเที่ยวให้กับเมืองใหญ่ และเมืองรองของไทย นอกเหนือ จากการสร้างงานทั่วประเทศ และส่งเสริมไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

การบินไทย ตัดสินใจที่จะ รักษาสถานะสายการบินแห่งชาติ และความภาคภูมิใจของคนไทยเอาไว้ เช่นเดียวกับสถานะของการเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ ชื่อดังของโลก ยิ่งไปกว่านั้น การบินไทย ยังมีบทบาทสำคัญ ในการให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนรัฐบาล และประชาชนชาวไทย ด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในช่วงเวลาที่ประเทศสงบ และในช่วงเวลาวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 การบินไทยได้จัดเที่ยวบิน สำหรับพาคนไทยกลับบ้านเกิด รวมถึง จัดเที่ยวบินพิเศษ เพื่อการขนส่งวัคซีน เพื่อประโยชน์ของคนไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ความเป็นมาของการบินไทย เป็นสิ่งที่สายการบินคู่แข่งไม่สามารถเทียบได้ในเรื่องการให้บริการ

การบินไทย8

ในการสร้างธุรกิจยั่งยืนนี้ การบินไทย และ ไทย สมายล์ จะดำเนินรอยตามแนวคิดที่มีอยู่เกือบทั้งหมด และร่วมมือกันในทุกด้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ป้องกันการทำงานซ้ำซ้อนกัน บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ และวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจของการบินไทย โดยเน้นการศึกษาความเป็นไปได้ ในการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ แบรนด์ เครือข่าย และฝูงบิน มาตรฐานการทำงานของหน่วยงานธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากร การลดขนาดธุรกิจให้กระชับขึ้น และปรับลดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ การขาย และการบริหาร (SG&A) มุ่งเน้นการพัฒนาการให้บริการ และยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า

(อ่านต่อฉบับหน้า)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight