Economics

‘ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.’ คาดแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรเดือน พ.ค. ปรับเพิ่มขึ้น

“ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.” ชี้ความต้องการของตลาดโลกและความสามารถส่งออกผลผลิตมีมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤษภาคม 2564 มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ความต้องการของตลาดโลก และความสามารถในการส่งออกผลผลิตมีมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤษภาคม 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ กุ้งขาวแวนนาไม สุกร และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่

สมเกียรติ กิมาวหา
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 12,037 – 12,100 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.53 – 2.06% เนื่องจากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งขัน อาทิ ราคาข้าวหอมผกามะลิจากกัมพูชา ส่งผลให้ประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มการนำเข้าข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น

ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 11,006 – 11,142 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.73 – 2.99% เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังออกสู่ตลาดไปแล้ว และสต็อก ข้าวเหนียวของผู้ประกอบการเริ่มลดลง

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.12 – 8.36 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.50 – 5.50% เนื่องจากเป็นช่วงเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 ช่วงต้นฤดูฝน (เดือนเมษายน – มิถุนายน) ปริมาณผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่ยังขยายตัวได้ดี

น้ำตาลทรายดิบ ตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 16.92 – 17.14 เซนต์/ปอนด์ (11.71 – 11.86 บาท/กก.)เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.20 – 2.50% เนื่องจากความกังวลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่คาดว่าจะลดลงจากปัญหาสภาพอากาศ โดยสภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้พื้นที่ปลูกชูการ์บีท (Sugar Beet) ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป ได้รับความเสียหาย และสภาพอากาศที่แห้งแล้งในประเทศบราซิล ทำให้ปริมาณอ้อยลดลง

กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 156.06 – 157.90 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.00 – 3.20% เนื่องจากผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดน้อยจากการที่เกษตรกร ชะลอการลงลูกกุ้งในช่วงก่อนหน้านี้ แม้ว่าประเทศไทย จะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ยังไม่กระทบต่อคำสั่งซื้อ และการส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลดีต่อการส่งออกกุ้งมีชีวิตและกุ้งสดแช่เย็นของไทย

สุกร ราคาอยู่ที่ 77.69 – 78.84 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.88 – 2.24% เนื่องจากประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตอันดับ 1 ของไทย ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการนำเข้าสุกรจากไทย และผู้ส่งออกสุกรมีแผนการส่งออกไปประเทศเวียดนามมากขึ้น ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสุกรมีชีวิตได้มากขึ้น

โคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 98.33 – 98.40 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.01 – 0.08% เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อโคทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตเนื้อโคอาจลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโคและกระบือ

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่

ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,997 – 9,061 บาท/ตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 0.76 – 1.47% เนื่องจากประเทศอินเดียซึ่งเป็น ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและปริมาณข้าวในสต็อกอยู่ในระดับสูง ทำให้มีปริมาณข้าวส่วนเกินที่ระบายออกสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก

ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 52.85 – 53.55 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน 1.56 – 2.85% เนื่องจากปริมาณยางพาราจากการประมูลสต็อกยางพาราเก่าออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงงานกดราคารับซื้อยางพาราจากเกษตรกร

มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.05 – 2.10 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน 0.47 – 2.88% เนื่องจากลานมันเส้นเริ่มทยอยปิดลานรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังที่ออกสู่ตลาด ส่วนใหญ่จะถูกจำหน่ายไปยังโรงงานแป้งมันสำปะหลัง จึงเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาปรับตัวลดลง

ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 4.34 – 4.77 บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อน 1.24 – 10.15% เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และคาดว่าในเดือนพฤษภาคม จะมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดประมาณ 1.99 ล้านตัน คิดเป็น 12% ของปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันทั้งปี 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo