Business

เรารู้อะไรบ้าง? เกี่ยวกับลงทะเบียน ‘บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ 2564

ประชาชนจำนวนมากกำลังเฝ้ารอการเปิด ลงทะเบียน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน)” รอบใหม่ในปี 2564

แม้ปัจจุบัน กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ ยังไม่ได้ประกาศเงื่อนไขทั้งหมดออกมาอย่างชัดเจน แต่ทางกระทรวงฯ ก็ค่อย ๆ แง้มรายละเอียดออกมาอย่างต่อเนื่อง

ลงทะเบียน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2564

เรารู้อะไรบ้าง? ลงทะเบียน “บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” 2564

กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแล บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน ได้แง้มรายละเอียดการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง สรุปได้เบื้องต้นดังนี้

  • เปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณารายได้ของผู้ถือบัตรฯ จากเดิมพิจารณารายได้เป็นรายบุคคล ก็จะเปลี่ยนเป็นดูรายได้ของครอบครัวแทน เพราะบางกรณีครอบครัวมีรายได้สูง แต่ผู้ถือบัตรฯ ไม่มีชื่อในทรัพย์สินหรือไม่มีรายได้ในระบบ ทำให้ผ่านเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามยังไม่มีความชัดเจนว่า จะกำหนดรายได้ครอบครัวผู้ถือบัตรฯ ไว้ไม่เกินเท่าไหร่
  • เพิ่มเงื่อนไขผู้ลงทะเบียนต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลรายได้ของครอบครัว เพื่อให้กระทรวงการคลังติดตามว่า รายได้ของผู้ถือบัตรฯ และครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หากครอบครัวไหนมีรายได้เกินเกณฑ์ ก็จะถูกตัดสิทธิ์ออกจากระบบ รวมถึงติดตามว่า ผู้ถือบัตรฯ ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน
  • ในการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ ผู้ถือฯ จะได้รับความช่วยเหลือพื้นฐานเหมือนเดิม ได้แก่ ค่าซื้อสินค้า 200 – 300 บาทต่อเดือน, ค่าเดินทาง และส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม
  • ผู้ถือ บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในปัจจุบันจำนวน 13.8 ล้านรายทั่วประเทศ จะต้องลงทะเบียนขอทบทวนสิทธิด้วย เพื่อคัดกรองว่ายังเข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือหรือไม่
  • หลังจากนี้กระทรวงการคลังจะทบทวนสิทธิผู้ถือบัตรฯ ทุกปี
  • การเปิดลงทะเบียน บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ จะดำเนินการเมื่อสถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลาย และมาตรการเยียวยาโควิด – 19 ต่าง ๆ เช่น โครงการเราชนะ สิ้นสุดลง

ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดคร่าว ๆ ที่กระทรวงการคลังเปิดเผยออกมา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา จึงสามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดได้ตลอดเวลา และยังมีความไม่แน่นอนสูง เพราะสถานการณ์โควิด – 19 ภายในประเทศยังไม่สงบลง

shutterstock 759959308

“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” คืออะไร?

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า บัตรคนจน เป็นความช่วยเหลือและสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐบาลมอบให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

ความช่วยเหลือและสวัสดิการต่าง ๆ จะโอนเข้าบัตรฯ ทุกเดือน ซึ่งความช่วยเหลือในแต่ละเดือนก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนโยบาย งบประมาณ และคุณสมบัติของผู้ถือบัตรฯ แต่ละคน เช่น ผู้พิการที่ถือบัตรคนจนก็จะได้รับเบี้ยความพิการเพิ่มเติม 200 บาท หรือผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็จะได้รับวงเงินค่ารถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รถเมล์ ขสมก.) เพิ่มเติมด้วย

โดยปัจจุบันผู้ถือบัตรฯ มีทั้งหมด 13.8 ล้านคนและได้รับความช่วยเหลือ 6 รายการต่อเดือน ดังนี้

1.ค่าเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้

  • ค่ารถเมล์ ขสมก. และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งได้รับเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนในกรุงเทพฯ และ 6 จังหวัดปริมณฑล
  • ค่ารถโดยสาร บขส. (รถทัวร์ บขส.) 500 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้ถือบัตรฯ จะได้รับสิทธิ์ทุกคน
  • ค่ารถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้ถือบัตรฯ จะได้รับสิทธิ์ทุกคน

2.วงเงินช่วยเหลือค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัสดุการเกษตร ในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและร้านค้าอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ซึ่งผู้ถือ บัตรคนจน จะได้รับวงเงินรูดซื้อสินค้าทุกคน แต่ไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้

  • ผู้ถือบัตรฯ ที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับวงเงิน 300 บาทต่อคนต่อเดือน
  • ผู้ถือบัตรฯ ที่มีรายได้ระหว่าง 30,000-100,000 บาทต่อปี ได้รับวงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน

3.ส่วนลดค่าซื้อก๊าซแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน โดยผู้ถือบัตรฯ จะได้รับทุกคน และสามารถใช้สิทธิ์ได้ด้วยการนำบัตรฯ ไปซื้อก๊าซกับร้านค้าที่ร่วมรายการกับกระทรวงพลังงาน ภายในระยะเวลา 3 เดือน แต่ไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้

shutterstock 1906199839

4.ค่าน้ำประปาฟรี 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ผู้ถือบัตรคนสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับสิทธิ คือ ครัวเรือนที่ใช้น้ำประปาไม่เกินเกณฑ์เดือนละ 100 บาทและลงทะเบียนใช้สิทธิเรียบร้อยแล้ว

5.ค่าไฟฟ้าฟรี ไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ได้รับสิทธิคือ ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดเดือนละ 230 บาท และได้ลงทะเบียนใช้สิทธิเรียบร้อยแล้ว

6.เบี้ยความพิการเพิ่มเติม 200 บาท ผู้ที่ได้รับเบี้ยความพิการเพิ่มเติมจะต้องเข้า 3 เงื่อนไข คือ 1. เป็นผู้พิการที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 2. มีบัตรประจำตัวผู้พิการ และ 3. มี บัตรคนจน โดยวงเงินเบี้ยความพิการเพิ่มเติม 200 บาท จะโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ของบัตรฯ และสามารถกดเป็นเงินสดได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo