Business

‘รองเท้าแตะ’ ดาวรุ่งน่าจับตา คว้าอานิสงส์เอฟทีเอ ลุยขยายส่งออก

รองเท้าแตะ สินค้าส่งออกดาวรุ่ง กรมเจรจาฯ แนะใช้เอฟทีเอขยายตลาดส่งออก ชี้ไทยได้เปรียบ วัตถุดิบหาได้ในประเทศ เร่งพัฒนาสินค้าโดนใจ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รองเท้าแตะ เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกของไทย ที่น่าจับตามมอง เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดการส่งออกรองเท้าแตะของไทย ไปตลาดต่างประเทศ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรองเท้าแตะกลุ่มที่ทำจากยาง หรือพลาสติก

รองเท้าแตะ

ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกรองเท้าแตะ อันดับที่ 8 ของโลก รองจาก จีน สหภาพยุโรป เวียดนาม ตุรกี สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย บราซิล โดยปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมรองเท้าแตะของไทย ได้แก่ คุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ได้รับการยอมรับ ประกอบกับความได้เปรียบด้านต้นทุน เนื่องจากสามารถหาวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ เม็ดพลาสติก และยางพาราแปรรูปได้ภายในประเทศ และมีแรงงานคุณภาพที่มีประสบการณ์

นอกจากนี้ ไทยยังมีแต้มต่อจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีกับ 18 ประเทศคู่ค้า ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ซึ่งช่วยปลดล็อกกำแพงภาษีนำเข้า สินค้ารองเท้าแตะ ที่ส่งออกจากไทย ทำให้สินค้าของไทย มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

ล่าสุด 16 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ารองเท้าแตะจากไทยทุกรายการ ทั้งรองเท้าแตะ ที่ทำจากยาง หรือพลาสติก รองเท้าแตะจากหนัง และรองเท้าแตะจากวัสดุสิ่งทอ เหลือเพียง เปรู และอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้ารองเท้าแตะจากไทย โดยอินเดียลดภาษีนำเข้าจาก 10% เหลือเก็บภาษีที่ 5% และเปรูเก็บภาษีนำเข้าที่ 11%

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตลาดคู่ค้า ที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย พบว่า ประเทศคู่เอฟทีเอ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ ของสินค้ารองเท้าแตะของไทย โดยไทยส่งออกสินค้ารองเท้าแตะ ไปยังตลาดคู่เอฟทีเอ รวมกันปีละมากกว่า 2 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด หรือประมาณ 64% ของการส่งออกทั้งหมด และการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปี 2560-2562 ไทยส่งออกรองเท้าแตะ ไปประเทศคู่เอฟทีเอมูลค่ารวม 49 ล้านเหรียญสหรัฐ 59 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 66 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 12% ต่อปี

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม 1
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ขณะที่ในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัว ทำให้การส่งออกสินค้ารองเท้าแตะของไทย ชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยไทยส่งออกไปตลาดคู่เอฟทีเอรวม 59 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 11%

ส่วนในช่วง 2 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอมีมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 10% แต่การส่งออกไปตลาดคู่เอฟทีเอหลายประเทศมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ในส่วนของประเทศในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย เช่น ลาว เพิ่ม 6% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 100% เวียดนาม เพิ่ม 25% อินโดนีเซีย เพิ่ม 139% มาเลเซีย เพิ่ม 66% และการส่งออกไปตลาดอินเดีย และญี่ปุ่น ก็ขยายตัวเช่นกัน เพิ่ม 7% และ 26% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนแนวโน้มตลาดในปี 2564 ที่เริ่มฟื้นตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโลก

ขณะเดียวกัน ในระยะยาวคาดการณ์ว่า ตลาดรองเท้าแตะ มีแนวโน้มเติบโตได้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเป็นสินค้าพื้นฐาน ที่มีการใช้ในชีวิตประจำวัน ของบุคคลทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และปัจจุบัน นอกเหนือจากการซื้อรองเท้าแตะ เพื่อใช้งานทั่วไปแล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็นสินค้าแฟชั่นได้อีกด้วย จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทย จะขยายตลาดส่งออกได้อีก โดยเฉพาะการเจาะตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มที่

พร้อมกันนี้ สินค้าไทยต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาช่วยออกแบบรองเท้า ให้ใส่สบายส่งผลดีต่อสุขภาพ รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบ ให้มีความหลากหลาย ตามพฤติกรรมและสมัยนิยมของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพื่อให้รองเท้าแตะของไทย ครองใจผู้บริโภคในวงกว้าง

นางอรมน กล่าวว่า การส่งออกสินค้ารองเท้าแตะของไทย สู่ตลาดโลกในปี 2563 มีมูลค่ารวม 87 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 20% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน สัดส่วน 64.5% ของการส่งออกทั้งหมด มีเมียนมา กัมพูชา และลาวเป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน

สินค้าส่งออกสำคัญ คือ รองเท้าแตะที่ทำจากยาง หรือพลาสติก สัดส่วน 92.4% ของการส่งออกทั้งหมด รองเท้าแตะที่ทำจากวัสดุสิ่งทอ สัดส่วน 6.8% และร้องเท้าแตะที่ทำจากหนัง สัดส่วน 0.8%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo