Business

‘พักทรัพย์พักหนี้’ แสนล้าน ต่อลมหายใจธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมหนักสุด NPL พุ่ง 22,000 ล้าน

พักทรัพย์พักหนี้ แสนล้าน ต่อลมหายใจธุรกิจท่องเที่ยว ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี คาดช่วยพยุงภาระหนี้ 9.1 หมื่นล้านบาท ชี้หนี้ NPL กลุ่มโรงแรมพุ่ง 22,000 ล้าน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า จากการประเมิน มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิ์ลูกหนี้ซื้อคืนทรัพย์สิน ภายใต้มาตรการ “พักทรัพย์พักหนี้” (Asset Warehousing) วงเงิน 1 แสนล้านบาท พบว่า วงเงินสินเชื่อในมาตรการดังกล่าว มีปริมาณใกล้เคียงกับยอดสินเชื่อ ที่มีความเสี่ยงในปัจจุบัน

พักทรัพย์พักหนี้

สำหรับมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ จะเน้นให้ความช่วยเหลือ กลุ่มธุรกิจหลัก ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคโควิด-19 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจบันเทิง ร้านอาหาร อพาร์ตเมนต์ หอพักให้เช่า

ทั้งนี้ จากข้อมูลคุณภาพสินเชื่อธุรกิจ ณ สิ้นปี 2563 พบว่า มูลค่าสินเชื่อความเสี่ยง เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Stage 2) โดยธุรกิจโรงแรมมีมูลค่ารวม 54,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับยอดสินเชื่อในธุรกิจท่องเที่ยว หอพัก ความบันเทิง กีฬา และ ร้านอาหาร จะทำให้มูลค่าสินเชื่อ Stage 2 มียอดรวมกันอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท

ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ของธุรกิจโรงแรม อยู่ที่ 22,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับธุรกิจอื่น ๆ จะมียอด NPL รวมกันสูงถึง 38,000 ล้านบาท

ในส่วนของเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการในครั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องมีหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน รวมถึงความสมัครใจของธุรกิจ ในการดำเนินกิจการต่อไปในระยะ 5 ปีข้างหน้า ทำให้ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวทั้งหมด ที่ต้องการความช่วยเหลือ มียอดสินเชื่อสูงใกล้เคียงระดับวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ 1 แสนล้านบาท จึงทำให้มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เป็นมาตรการที่เน้นให้ความช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวเป็นหลัก

พักหนี้1

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจ SMEs เนื่องจากในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และมีปัญหาในการชำระหนี้ จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจ SMEs

เห็นได้จากยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ในธุรกิจโรงแรม มาจากกลุ่ม SMEs มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 99% ของสินเชื่อ NPL ในธุรกิจโรงแรมทั้งหมด

ส่วนธุรกิจ SMEs กลุ่มท่องเที่ยวอื่น ๆ มีสัดส่วนสินเชื่อ NPL ที่สูงเช่นกัน โดยมีมูลค่า 1,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 99% ของยอดสินเชื่อ NPL รวมทั้งหมดในธุรกิจท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า สินเชื่อ Stage 2 กลุ่มธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนสินเชื่อมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยมีมูลค่าสินเชื่อ 48,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89% ของสินเชื่อ Stage 2 ในธุรกิจโรงแรมทั้งหมด

ส่วนธุรกิจร้านอาหาร SMEs มีมูลค่าสินเชื่อ 8,100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 82% ของสินเชื่อ Stage 2 ทั้งหมด

พักหนี้

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลงบการเงินปี 2562 โดยใช้ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) กับความสามารถในการทำกำไรของกิจการ (Profitability) ประเมินธุรกิจที่มีโอกาสจะเข้าสู่โครงสร้างพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งเรียกว่า “กลุ่มเสี่ยง” ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีปัญหาภาระหนี้สูง พบว่า ธุรกิจโรงแรมที่มี D/E สูงกว่า 2.5 เท่า มีจำนวนกลุ่มเสี่ยงถึง 4,315 ราย มีหนี้สินตามงบการเงินอยู่ประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท

เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน โดยเฉพาะหอพัก อพาร์ตเมนต์ ที่มี D/E สูงกว่า 2.9 เท่า จำนวนกลุ่มเสี่ยง 4,209 ราย และมีหนี้สิน 1.5 หมื่นล้าน ส่วนธุรกิจบันเทิง กีฬา สปา มี D/E สูงกว่า 0.8 เท่า จำนวนกลุ่มเสี่ยง 4,005 ราย หนี้สิน 1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อแยกพิจารณาตามขนาดธุรกิจ สามารถแบ่งได้ ดังนี้

  • ธุรกิจ SMEs นิติบุคคล จำนวนกลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ 18,567 ราย คิดเป็นสัดส่วน 45% ของจำนวน SMEs ทั้งหมด ประเภทธุรกิจที่มีกลุ่มเสี่ยงสูงได้แก่ โรงแรม (55%) รองลงมาคือธุรกิจนำเที่ยว (44%) และกลุ่มธุรกิจบันเทิง กีฬา สปา หอพักอพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร (42%)
  • ธุรกิจขนาดใหญ่ จำนวนกลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ 83 ราย คิดเป็นสัดส่วน 40% ของธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมด โดยประเภทธุรกิจที่มีกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว (68%) รองลงมาคือ ธุรกิจบันเทิง/กีฬา/สปา (46%) และโรงแรม/ร้านอาหาร (35%)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo