Business

เอกชนลุ้นท่องเที่ยวไตรมาส 4 โตตามเป้า

ผ่านเดือนแรกของไตรมาส 4/2561 มาแล้วสถานการณ์ท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการโรงแรม เผยว่าปีนี้อัตราการเข้าพักยังไม่ดีนัก โดยนางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาว่าตลาดค่อนข้างเงียบ อยู่ในภาวะที่ทรงตัวโดยมีอัตราการเข้าพัก (occupancy) เฉลี่ยอยู่ที่ 70% ถือว่ากลางๆ ไม่ต่ำมากแต่ก็ไม่สูง ตลาดค่อนข้างนิ่ง

รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของโรงแรมใหม่ก็มีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจโรงแรม ทำให้การก่อสร้างโรงแรมใหม่เกิดขึ้นไม่มาก จากจำนวนห้องพักโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั้งประเทศ ยังคงตัวเลขเดิมคือ  4 แสนห้องพัก และห้องพักโรงแรมที่ไม่ถูกกฎหมายยังมีอีกจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมน่าจะปรับเพิ่มขึ้น ตามภาวะปกติคือ 80-90% สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยปีนี้ นายกสมาคมโรงแรมไทยกล่าวว่า ถ้าให้ประเมินคาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยในแง่จำนวนคน จากเป้าหมาย 37 ล้านคน แต่ในแง่รายได้เชื่อว่าจะเป็นไปได้ตามเป้า 3.3 ล้านบาท

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ
นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ

นอกจากนี้ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวถึงแนวคิดที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องการส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยคาดหวังจะดึงเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้มากขึ้น หลังจากฏหมายให้เพศเดียวกันในประเทศไทยสามารถแต่งงานกันได้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเดือนพฤศจิกายนนี้ว่า ถ้ากฎหมายผ่านก็เป็นการดีกับการส่งเสริมตลาด

แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมยินดีต้อนรับเสมอ ไม่เคยแยกแยะว่าเป็นตลาดกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งโดยปกติก็ให้บริการเท่าเทียมกันอยู่แล้ว กลุ่มรักเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ซึ่งปกติลูกค้าบางรายก็ไม่ได้เปิดเผย แต่ผู้ให้บริการโรงแรมก็ไม่ปิดกั้นอะไร

ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส 4 ดีขึ้นเล็กน้อย

ด้านสภาอตสาหกรรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการสำรวจความเชื่อมั่น ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการท่องเที่ยว จำนวน 600 ราย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3/2561 เท่ากับ 96 สูงกว่าไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าปกติ สะท้อนความเขื่อมั่นของผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ต่ำกว่าปกติ

ปัจจัยที่ยังคงมีความกังวล ได้แก่ การแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รุนแรงขึ้น 26% การเป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว 21% และภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว 20%

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วน ประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาส 3/2561 ดีขึ้น โดยมีสาเหตุจากการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ดีขึ้น 21% การเดินทางสะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น 20% การประชาสัมพันธ์ที่ดีขึ้น 18%

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของททท. มีส่วนช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว 14%

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ 01
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ประเมินสถานการณ์ในไตรมาส 3/2561 เท่ากับ 90 ต่ำกว่าระดับปกติ โดยส่วนหนึ่งน่าจะได้ผลกระทบจากอุบัติเหตุเรือโดยสารที่ภูเก็ตล่ม

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ คาดการณ์สถานการณ์ในไตรมาส 4/2561 อยู่ที่ 105 ดีกว่าระดับปกติเล็กน้อย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการว่า สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติได้ในไตรมาส 4

ทั้งนี้ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเทียว ในไตรมาสที่4/2561 ได้ค่าเท่ากับ 103 สูงกว่าปกติเล็กน้อย โดยมีปัจจัยเสริมภาคการท่องเที่ยวจากฤดูกาลท่องเที่ยว และการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วขึ้น

ผู้ประกอบการระบุว่า ในไตรมาส 4 มีแผนจะปรับเป้าหมายการดำเนินงาน 41% และพบว่ากลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกลุ่มที่ระบุว่าจะปรับเพิ่มเป้าหมายในสัดส่วนที่สูงถึง 67%  สอดคล้องกับที่ประเมินและคาดการณ์ว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวดีกว่าปกติ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2/2561

ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะลงทุนในด้านการประชาสัมพันธ์ การทำตลาดออนไลน์ และการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เน้นหนักมากขึ้นต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่มีการสำรวจ

ในด้านกลยุทธ์การตั้งราคา ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจนำเที่ยวบางส่วน ระบุว่าจะปรับเพิ่มราคาสินค้า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว และหากพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก มีสัดส่วนผู้ประกอบการที่วางแผนจะขึ้นราคามากกว่าในภาคอื่นๆ

ขณะที่กลุ่มโรงแรมที่มีค่าห้องพักสูงกว่า 3,000 บาท/คืน มีผู้ประกอบการที่วางแแผนจะขึ้นราคาในสัดส่วนสูง 45%  ในขณะที่กลุ่มโรงแรมที่มีค่าห้องพักต่ำกว่า 3,000 บาท/คืน มีผู้ประกอบการเพียง 30% ที่วางแผนจะขึ้นราคา น่าจะเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจห้องพักราคาต่ำ

ร้อยละของนักท่องเที่ยวที่มีแผนไปท่องเที
จุดหมายนักท่องเที่ยวไทย

การดำเนินงานของภาครัฐ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่ระบุว่าได้รับผลดีจากแนวนโยบายดังกล่าว 26%  มาจากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น และใช้เวลาท่องเที่ยวภายในพื้นที่เพิ่มขึ้น

ผู้ประกอบการเห็นว่า ควรนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ในการประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชน ควรประชาสัมพันธ์พื้นที่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในเกือบทุกจังหวัดและนักท่องเที่ยว มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ควรมีการพัฒนาระบบรถสาธารณะในแต่ละจังหวัด เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวได้โดยสะดวก

ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวเห็นว่า ควรมีการปรับปรุงมาตรฐานด้านความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ 22% โดยควรเพิ่มศักยภาพบุคลากรในการดูแลด้านความปลอดภัย 35%  และปรับปรุงเรื่องป้ายแจ้งข้อมูลและคำเตือน 33%

เมื่อถามถึงนโยบายการหักลดหย่อนภาษีการท่องเที่ยวเมืองรอง พบว่า ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในจังหวัดเป้าหมายส่วนใหญ่ 63% ตอบว่าตนเองได้รับผลดี จากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นและนานขึ้น หรือมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

แต่ผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายโดยส่วนใหญ่ 63% ตอบว่าตนเองได้รับผลเสีย เนื่องจากทำให้นักท่องเที่ยวลดการเที่ยวในพื้นที่ตนเอง และเปลี่ยนไปท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงเสนอแนะให้ภาครัฐ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเมืองรองควบคู่เมืองหลักผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ให้มากขึ้น

หลายปัจจัยหนุนท่องเที่ยวขยายตัว

นักท่องเที่ยวชาวไทยมีสัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในไตรมาส 3/2561 และสัดส่วนการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ในไตรมาส 4/2561 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย

นักท่องเที่ยวต่างชาติ 63% ได้รับความพึงพอใจจากกการท่องเที่ยวประเทศไทยในไตรมาสนี้ หรือคิดเป็นคะแนนความพอใจ 3.88 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน โดยนักท่องเที่ยวได้รับความพึงพอใจในเกือบทุกด้าน ยกเว้น ด้านคมนาคม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริการ

ในไตรมาส 4/2561 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาต 8.81 ล้านคน ลดลง 5.17% จากไตรมาส 4/2560 และในปี 2561 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 37.19 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.08% และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างช่าติ 1.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.16% จากปี 2560

ไตรมาส 4/2561 เป็นช่วงที่มีวันหยุดเทศกาลหลายช่วง ได้แก่ วันคล้ายวันสวรรคตรัชกาลที่ 9 วันปิยะมหาราช เทศกาลลอยกระทง วันพ่อแห่งชาติ(วันชาติ) วันรัฐธรรมนูญ วันคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่

สัดส่วนนักท่องเที่ยวไทย ที่มีแผนออกมาท่องเที่ยวช่วงเทศกาลไตรมาส 4/2561 ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในทุกเทศกาล ยกเว้นเทศกาลปีใหม่ที่ลดลงจากปีก่อน 7.7% จากปีก่อน 9.4% อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบกากรคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงเทศกาลต่ำกว่าปกติ ยกเว้นเทศกาลปีใหม่ และช่วงวันรัฐธรรมนูญที่เป็นวันหยุดยาว (8-10 ธ.ค.)

ข้อมูลเบื้องต้นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าใน 7 เดือนแรกของปี 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 22.66 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11% และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขื้น 14.44% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 และคาดว่าในไตรมาส 3/2561 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.90 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.37% จากไตรมาส 3/2560

ในไตรมาส 4/2561 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.81 ล้านคน ลดลง 5.17% จากไตรมาส 4/2560 โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 2.43 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.40% นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก 2.95 ล้านคน ลดลง 16.19% และนักท่องเที่ยวจากยุโรป 1.95 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.56% จากไตรมาส 4/2560

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนรายเดือน 01
จำนวนนักท่องเที่ยวจีน

ในปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 37.19 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.08% และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.16% จากปี 2560

สรุปสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยทั่วไปในช่วงปลายปี 2561 ในมุมมองของผู้ประกอบการมีแนวโน้มดีขึ้น ในภาพรวมสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย ยังคาดว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงปกติอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น แนวโน้มสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังต้องระวังผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน รวมทั้งติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยวชาวจีน

Avatar photo