Business

แชร์สนั่น! กัปตันเรือไทยเลคเชอร์ ‘วิกฤติคลองสุเอซ’ ชี้ 7 วิธีแก้ปัญหาเรือเกยตื้น

โซเชียลฯ แชร์สนั่น! กัปตันเรือไทยเลคเชอร์ “วิกฤติคลองสุเอซ” และที่มาเรือยักษ์เจ้าปัญหา “Ever Given” พร้อมเปิด 7 วิธีแก้

วานนี้ (26 มี.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชี Seksit Pratoomsri ซึ่งระบุว่าตนเองเป็นกัปตันเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่มีประสบการณ์มายาวนาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้ความรู้เกี่ยวกับ “วิกฤติคลองสุเอซ” และที่มาของเรือยักษ์ปัญหา “Ever Given” ที่เกยตื้นขวางคลองสุเอซอยู่ในขณะนี้ พร้อมเล่า 7 แนวทางซึ่งอาจจะช่วยแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ได้ โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมากและมีการแชร์ไปหลายหมื่นครั้ง

วิกฤติคลองสุเอซ 4ก56หด46กหด

กัปตันเรือไทยเลคเชอร์ “วิกฤติคลองสุเอซ”

สำหรับเนื้อหาทั้งหมดที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชี Seksit Pratoomsri มีรายละเอียดดังนี้

“บันทึกไว้อ่านเล่น ในฐานะเคยเป็นกัปตันเรือ Container มานาน

ช่วงนี้การเดินเรือทั่วโลก คงพุ่งความสนใจไปในกรณีเรือ Container ขนาดใหญ่ชื่อ “Ever Given” ไปติดตื้นในคลองสุเอซและขวางเส้นทางการเดินเรือหลักของโลกสายหนึ่ง จากภาพ เรียกว่าขวางจนมิดคลองเลยทีเดียว และท่าทางจะอีกพักใหญ่ๆ แหละครับ ที่จะ clear เรือลำนี้ออกได้ ป่านนี้ เรือแถวนั้น คงวุ่นวายกันน่าดู ลำไหนที่อยู่กลางๆ คลอง แล้วกลับลำวิ่งออกไปทางเดิมได้ ก็ยัง OK แต่พวกลำใหญ่ๆ ที่กลับลำไม่ได้นี่ น่าจะลอยอยู่แบบนั้นรอ Ever Given ให้พ้นเส้นทางก่อนจะเดินทางต่อไป

การเดินทางจากเอเชียไปยุโรป ช่วงนี้ ถ้าเลือกที่จะไม่รอผ่าน คลองสุเอซ ก็ต้องวิ่งอ้อมแหลม Good Hope ที่ปลายทวีปแอฟริกา เหนื่อยกันเลยละครับ แถมคลื่นลมแถวปลายแหลม ก็หนักหนาสาหัสเอาการอยู่ นอกจากนี้ระยะทางกับเวลา + ค่าน้ำมันในการเดินทางก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

เอาง่ายๆ ถ้า ผมพาพวกเราทุกคนขึ้นเรือไปกับผมออกจากท่าเรือแหลมฉบังที่บ้านเราจะไปท่าเรืออัมสเตอร์ดัม ที่เนเธอร์แลนด์ เส้นทางที่ใกล้ที่สุด คือต้องผ่านคลองสุเอซครับ นั้นก็ปาเข้าไป 9100 ไมล์ทะเลแล้ว ถ้าเรือวิ่งได้สัก 15 น๊อต ก็ใช้เวลาถึง 25 วัน

แต่ตอนนี้ผ่านคลองไม่ได้ ผมก็ต้องพาพวกเราไปอ้อมแหลม Good hope หล่ะครับ (ไปเมาคลื่นกันหน่อย) ระยะทางก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 12544 Nm และใช้เวลา 34 วัน นั่นก็คือเพิ่มอีก 9 วันเลยทีเดียว พอคูณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ของเรือในแต่ละวันเข้าไป มันก็มากอยู่ เพื่อนๆ คงสนใจคลองสุเอซแล้วสิครับ ว่ามันสำคัญยังไง มาๆ … เล่าให้ฟังครับ

สุเอซ เรือ ever given

คลองสุเอซ (Suez Canal) เป็นคลองที่มนุษย์ขุดขึ้นในประเทศอียิปต์ครับ เชื่อมระหว่างท่าเรือซาอิด ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเมืองสุเอซ (Suez) บนฝั่งทะเลแดง มีความยาวทั้งสิ้น 193 กิโลเมตรความกว้าง 300-350 เมตร และมีความลึกประมาณ 19.5- 20.1 เมตร สามารถรองรับเรือยาว 500 ม. กว้าง 70 ม. ได้สบายๆ คลองไม่มีประตูกั้นน้ำครับเพราะทะเลทั้ง 2 แห่งมีระดับเดียวกัน (ไม่เหมือนคลองปานามา)

คลองสุเอซเริ่มสร้างในเดือน เม.ย. ปี 1859 แล้วเสร็จในเดือน พ.ย.1869 ก็ใช้เวลาถึง 10 ปี เลยทีเดียวครับ เป็นตัวเชื่อมสำคัญในการค้าระดับโลก เนื่องจากเป็นเส้นทางลัดระหว่างยุโรปและเอเชีย โดยไม่ต้องไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา ในแต่ละปีจะมีเรือผ่านคลองเฉลี่ยถึง 25,000 ลำต่อปี ในจำนวนดังกล่าวเป็นเรือขนส่งสินค้าราวร้อยละ 58 คิดเป็นปริมาณการขนส่งสินค้าสูงถึง 665 ล้านตัน (หรือราวร้อยละ 14 ของปริมาณการค้าทั้งหมดของโลก) การเดินเรือตั้งแต่ต้นคลองจนถึงจุดสิ้นสุดคลอง ใช้เวลาประมาณ 11-16 ชมครับ

ปัจจุบันกรรมสิทธิ์เหนือคลองสุเอซเป็นของประเทศอียิปต์ครับ การเดินเรือในคลองสุเอซเป็นการเดินเรือเพียงทางเดียว ดังนั้นเรือที่จะผ่านคลองสุเอซ จึงต้องเดินเรือเป็นขบวนในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งมี 3 ขบวนต่อวัน ประกอบด้วยการเดินเรือขึ้นเหนือจากท่าเรือสุเอซไปยังท่าเรือซาอิด 1 ขบวน ใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง และการเดินเรือลงใต้จากท่าเรือซาอิดไปยังท่าเรือสุเอซ 2 ขบวนใช้เวลาประมาณ 16 ชั่วโมง

ปัจจุบัน คลองสุเอซ เป็นคลองที่มีการขนส่งสินค้ามากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญของโลก เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในแถบตะวันออกกลางใช้ขนส่งน้ำมันไปยังภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะทวีปยุโรป และสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรือบรรทุกน้ำมันที่เดินทางผ่านคลองสุเอซ มีสัดส่วนราวร้อยละ 22 ของจำนวนเรือทั้งหมดเลยทีเดียว

Timeline Suez Canal blocked by huge container ship 1 1
เจ้าหน้าที่องค์การคลองสุเอซลงพื้นที่เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ติดค้างกลางคลองสุเอซของอียิปต์

รู้จักเรือยักษ์ “Ever Given” และทางรอด

คราวนี้มาดูเจ้า Ever Given เราบ้าง เรือ container ลำนี้ยาวตั้ง 400 ม ก็สนามฟุตบอลมาต่อกัน 4 สนามแหละครับ กว้าง 59 ม. แล้วก็น้ำหนักที่บรรทุกสินค้าได้ถึง 219,079 ตัน เรือที่จะเข้า คลองสุเอซ ต้องใช้บริการของเจ้าพนักงานนำร่องครับ เพราะต้องใช้ผู้ที่มีประสบการณ์ในการนำเรือพอสมควร กัปตันของเรือจะนำเรือผ่านคลองเองไม่ได้

ดูจากช่วงคลองที่เรือติดตื้น กว้างประมาณ 250 ม. นั่นก็หมายความว่าเจ้า Ever Given จะมีระยะจากกราบเรือถึงฝั่งแค่ข้างละ 90 ม. เอง ถ้านับจากขนาดมหึมาของมัน ก็เป็นระยะแค่นิดเดียวเอง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า พอเรือเสียอาการ ทำให้หัวเรือเข้าไปติดตื้น ด้วยความยาวเรือ 400 ม. มันก็จะปิดคลองได้สนิททีเดียว จากข่าว บ้างก็ว่าโดนลมแรงจนทัศนวิสัยมองไม่เห็น พอลมแรง เรือ container ที่บรรทุกตู้ full load สูงขนาดนั้น ก็รับลมเต็มๆ เหมือนเรือใบแหละครับ สมัยผมเป็นกัปตันก็ประสบปัญหานี้บ่อยๆ บ้างก็ว่าเครื่องไฟดับ และเป็นสาเหตุให้เครื่องจักรใหญ่ดับตามมา แต่ไม่ว่าจะจากสาเหตุอะไร ตอนนี้ Suez ก็เป็นอัมพาตไปเรียบร้อยแล้ว นึกถึงว่าถ้าเป็นคลองไทย ที่เรามีโครงการว่าจะขุดที่ภาคใต้ ป่านนี้คงคิดหนักกันแล้วหล่ะครับ ถ้าเจอ case study แบบนี้

เรือลำนี้เจ้าของคือบริษัท Evergreen Line ของไต้หวัน และดูแลเรือโดยบริษัท Bernhard Schulte Shipmanagement (BSM) ครับ ซึ่งเป็น ship manager ดังของโลกเลย มาดูกันครับ ว่าตอนนี้ เขาจะทำยังไงให้เรือลอยขึ้นและหลุดจากที่ตื้นได้บ้าง

1.ขุดทรายที่หัวเรือออก ด้วยรถขุดหรืออื่นๆ ก็ต้องขุดทรายออกถึง 20,000 คิวบิกเมตร และลึกถึง 16 ม. Bow Bulbous เรือถึงจะหลุด เพราะด้วยโมเมนตัมของเรือ + ความเร็วของเรือ + แรงลม หัวเรือน่าจะเสียบเข้าไปที่ชายฝั่งลึกและแรงพอสมควรเลยทีเดียวครับ

2.ใช้เรือ Tug ช่วยดึง ให้พ้นที่ตื้น ดึงให้ตาย ก็ไม่น่าออกครับ ด้วยน้ำหนักเรือ + หัวเรือที่เสียบเข้าไปในทราย คงไม่น่ามี tug ที่มีแรงพอทีจะดึงออกได้

3.ใช้เรือดูดทรายใต้ท้องเรือออก ก็น่าจะพอช่วยได้บ้าง แต่ก็ต้องดูดไปทิ้งไกลๆ เดี๋ยวทิ้งไว้แถวๆ นั้นมีติดตื้นซ้ำสอง

4.ปั้มน้ำกับน้ำมันออกบ้าง ลดน้ำหนัก แต่ก็ต้องคำนวน ship stability ดีๆ เพราะว่าน้ำกับน้ำมันมันอยู่ด้านล่างของเรือ ไปปั้มเขาออก GM ของเรืออาจเสีย จากน้ำหนักตู้สินค้าที่หนักๆ อยู่ด้านบนได้ เรืออาจจะพลิกคว่ำได้

เรือ Ever Given เกยตื้น คลองสุเอซ 2
ความพยายามแก้ปัญหาเรือยักษ์ขวาง คลองสุเอซ

5.มุกสุดท้าย ขนเอาสินค้าลงจากเรือบ้าง เพื่อให้เรือเบาขึ้น แต่ดูจากสิ่งแวดล้อมแถวนั้น จะเอาขึ้นทางบก น่าจะยากๆ หน่อย เพราะมีแต่ทราย จะไปตั้งเครน เอารถหัวลากเข้าไป น่าจะลำบาก อีกทางก็ discharge เอาลงเรือ Barge หรือทำ ship to ship ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ก็กว่าจะเอาสินค้าลงจนเรือลอยได้ น่าจะอีกหลายวัน

6.อีกทางที่ผมคิดเอง ใช้ tug ดึงและดันท้ายเรือ ให้เรือมันขนานกับฝั่งด้านหนึ่ง แล้วเปิดการจราจรให้เรือขนาดเล็กๆ หน่อย ผ่านไปเลยครับ อย่างน้อยก็ผ่อนหนักเป็นเบาได้ หรืออาจจะลองเอาถุงลมใหญ่ๆ ไปลอดใต้ท้องเรือแล้วปั้มลมเข้าไป ก็อาจจะช่วยเพิ่มแรงพยุงของเรือให้ลอยขึ้นได้อีกทางหนึ่ง แต่จะไปหาถุงลมขนาดนั้นได้ที่ไหน ?

7.และสุดท้าย ผมเคยใช้วิธีนี้ตอนเรือติดตื้นที่ท่าเรือสงขลาครับ “บนเสด็จเตี่ยด้วยประทัด 500 ดอก” ขอให้หลุดจากที่ตื้นครับ พูดแล้วขนลุก ได้ผลครับ !!! แต่แถวสุเอซไม่น่าจะรู้จักเสด็จเตี่ยของเรา

ผมว่าตอนนี้ เขาคงทำทุกวิถีทางยกเว้นข้อ 6 กับ 7 แหละครับ ยังไงผมก็เอาใจช่วยนะครับ ขอให้ Ever Given กลับมาลอยได้อีกครั้งเร็วๆ ผมหล่ะเป็นห่วง Evergreen Line จริงๆ เกิดมีการฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน แล้วคนฟ้องชนะขึ้นมา ประกันภัยทางทะเลในเรื่องของ P&I ที่ดูแลบุคคลที่ 3 น่าจะอ่วมแหละครับ เพราะน่าจะเกินความรับผิดของเจ้าของเรือในส่วน Ower Liability แน่ๆ เป็นเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ในฐานะคนประจำเรือคนหนึ่งครับ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo