Business

‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ หนุนลงทุน ‘Land Bridge – SEC’ เปลี่ยนฮวงจุ้ยประเทศ

“ศุภชัย เจียรวนนท์” มองอนาคตไทยต้องหาจุดเด่น หนุนลงทุน “Land Bridge – เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้” เปลี่ยนฮวงจุ้ยประเทศเป็นฮับโลจิสติกส์โลก

วันนี้ (25 มี.ค.) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทยจะไปต่อได้อย่างไร” ในงานสัมมนา “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน

นายศุภชัย กล่าวระหว่างการเสวนาว่า เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้อย่างไรและแบบใดนั้น มันหนีไม่พ้นว่าเรามีศักยภาพการแข่งขันอย่างไร ซึ่งมันเป็นพื้นฐาน

หากไทยยังมีประชากรอยู่ในระดับที่ยากจน รายได้น้อย มันยากที่จะเดินต่อ จะมีแค่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัว 4 หมื่นเหรียญ เทียบเท่ารายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวของประเทศพัฒนาแล้ว

ในขณะที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ใต้ ที่ยังมีรายได้น้อย เพราะฉะนั้นเราต้องมาคิดว่าเกิดอะไรขึ้น จะจัดการกับความยากจนอย่างไรได้แบบบูรณาการ

ศุภชัย เจียรวนนท์ Land Bridge

ปัจจุบันภาคเหนือ อีสาน อาชีพคือเกษตรกร ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จนั้น เขาจัดการกับปัญหานี้ได้ ยุโรป ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ทำผ่านระบบสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน แต่เกษตรกรไทยเป็นธุรกิจครอบครัว เขาขาดการบริหารจัดการ ขาดเทคโนโลยี ขาดตลาด ขาดการสร้างมูลค่าเพิ่ม แหล่งทุนที่เหมาะสม ถ้าเราสามารถบริหารสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนแบบเอกชน ที่ไม่ใช่แบบราชการ เพราะการบริหารแบบนี้ มันจึงไม่เกิดความกระตือรือร้น ถ้าทำตรงนี้ได้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

สำหรับการที่จะปฏิรูปเกษตรกรรม เกิดความเป็นเอกชน เกษตรกรกลายเป็นเจ้าของกิจการ สมาชิกเป็นเจ้าของ บริหารจัดการนวัตกรรม กระโดดจากเกษตรกร 1.0 เป็น 4.0 เลย เราต้องตั้งสหกรณ์ใหม่ หรือ เรียกว่าเซอร์วิส ฟาร์มมิ่ง (Service Farming) โครงสร้างพื้นฐานส่วนนี้สำคัญ สิ่งที่ตามมาคือการลงทุน จากนั้นต้องมาบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น มันต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ในขณะสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระดับชุมชน หรือเรียกว่าทาวน์ชิพ (Township) หรือสร้างเมืองในระดับชุมชน การสร้างเมืองหรือตลาดที่ดีในระดับชุมชน จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เกิดอีก 10 อุตสาหกรรม มาตรฐานของความเป็นอยู่ของคนขยับขึ้น มีความมั่นคงในชีวิต ไม่เป็นหนี้นอกระบบ ลูกหลาน ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีจนถึงมหาวิทยาลัย

ทุกประเทศปรับตัว ขยับความมั่นคงในชีวิต มันคือพื้นฐาน ถ้าความเหลื่อมล้ำไม่หายไป การเมืองไม่นิ่ง จะทำให้การบริหารระบบราชการประเทศช้าไปด้วย ทำให้การแข่งขันไม่มี เช่น ต่างประเทศเขาจะตัดสินใจเร็วกว่าเรา ไทยจึงต้องเปลี่ยนฮวงจุ้ยประเทศ เช่น EEC ที่ดึงดูดทรัพยากรของโลกมาไทย เราต้องเป็นที่ดึงดูด เขาจึงต้องเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางอะไรสักอย่าง เพราะมันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพ ดึงทุน เราเป็นอยู่แล้วตามยุทธศาสตร์ เรามี Automotive และจะไปเป็น EV

ศุภชัย เจียรวนนท์ SEC

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า อย่างเวียดนามมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ อินโดนีเชียที่สร้างเมืองใหม่ เราก็มาดูจุดเด่นที่เราทำได้ ถ้าเรามี EEC เราก็ควรมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) สร้างแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) เส้นทางขนส่งที่เชื่อมหลายประเทศ ซึ่งไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางขนส่ง โลจิสติกส์ระดับโลก บวกกับการที่ไทยจะเดินไปสู่ 4.0 ทุกอย่างก็จะวิ่งมาไทย

เพราะไทยเป็นโลจิสติกส์ฮับ พวกผู้เล่นระดับโลก กองทุนก็จะมา และเกิด start up จากนั้นไทยก็จะกลายเป็นเทรดฮับ ไฟแนนซ์เชียลฮับ เทคฮับ R&D ฮับ เราจะกลายเป็นระดับเอเชียและระดับโลก แล้วก็เชื่อมไปทางภาคอีสาน เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือใหม่ (NEC) เชื่อมไปทางประเทศลาว และประเทศจีนต่อไป

ดังนั้น ไทยจะเชื่อมกับอินเดียและจีน ที่เป็นเศรษฐกิจอันดับ 2 และ 4 ของโลก และมีโอกาสขึ้นไปเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเปลี่ยนฮวงจุ้ยและปรับภูมิทัศน์ศาสตร์ของเรา แต่ต้องสร้างสมดุลให้ดีไม่ใช่เอียงไปทางจีน หรือทางสหรัฐอเมริกามากไป

เราต้องหาจุดเด่นอย่างอื่นที่คนอื่นทำไม่ได้ จึงเสริมว่าเมื่อเรามี EEC แล้ว เราก็มี SEC การสร้าง Land Bridge แค่เรื่องการขนส่งสินค้าจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปมหาสมุทรอินเดีย ลองคิดดูว่าเรามีทั้ง EEC และ SEC เราจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับโลก ถ้าถามว่าลงทุนไปคุ้มไหม เพราะมีช่องทางสุมาตราแล้ว แต่ตอนนี้มันเบียดเสียด ลองคิดว่าประหยัดได้ศูนย์วัน จากเดิมที่ไม่อยู่ในทางเลือก เราก็จะกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ดี กลายเป็นโลจิสติกส์ฮับ ศูนย์กลางการขนส่ง ต่างชาติหันมาลงทุน

นอกจากนี้ ไทยจะต้องดึงเอาอุตสาหกรรมที่เคยเด่นกลับมาแข็งแกร่งให้ได้ อย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เรามีรายได้จากส่วนนี้ 15-16% ของ GDP ดังนั้นเราต้องเตรียมความพร้อม ถ้าไทยยังมี capacity วัคซีนเหลืออยู่ควรที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ เช่น นักท่องเที่ยวสิงคโปร์เดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทย เราฉีดวัคซีนให้ โดยให้ออกค่าใช้จ่ายเองได้หรือไม่ เพื่อดึงการท่องเที่ยวกลับมา

รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต่อไปอีก 10 ปี เราจะไม่เห็นรถที่พ่นควันออกต่อไป เพราะจะไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดังนั้นแล้วเราต้องให้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้ค่ายรถญี่ปุ่นประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายผลิต EV จากนั้นจะทำให้เกิดค่ายรถอื่นต้องผลิต EV ตาม ซึ่งแน่นอนว่ามันจะนำไปสู่การเกิดอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ โรบอท เอไอ คลาวด์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะต้องออกไปดึงการลงทุนเข้ามา อย่ารอแต่ต่อคิวบีโอไอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo