Economics

ส่องเศรษฐกิจไทย! คาดปีนี้โต 2.6 – 2.7% จับตาวัคซีนดันท่องเที่ยวฟื้น

ประเมินแนวโน้ม เศรษฐกิจไทย 2564 คาดขยายตัวในกรอบ 2.6 – 2.7% KKP Research ชี้ไทยกำลังเผชิญภาวะ “ประเทศเศรษฐกิจฝืด ในโลกของเงินเฟ้อ” ด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ 2 ล้านคนในปีนี้ ยังมีความเป็นไปได้

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โดย KKP Research ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขึ้นจาก 2.0% เป็น 2.7% ตามผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ ที่น้อยกว่าที่ประเมินไว้ และการฟื้นตัวของการส่งออก โดยการระบาดระลอกใหม่ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนธันวาคมจบลงเร็วกว่าคาด ส่งผลให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1 ต่ำกว่าที่ประเมิน

ก่อนหน้านี้ KKP Research มีการปรับลงภายใต้สมมติฐานว่าการระบาดของโควิด – 19 ระลอกใหม่ อาจยืดเยื้อไปได้สูงสุดถึง 1 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุด ผลกระทบจากการะบาดระลอกใหม่ น้อยกว่าที่ประเมินไว้มาก ประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลายได้เร็ว และมาตรการผ่อนปรนที่เห็นทิศทางชัดเจนขึ้น ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จึงมีโอกาสเห็นการบริโภคและการลงทุนกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงหลังจากนี้ไป

เศรษฐกิจไทย

สำหรับภาคการท่องเที่ยว มองว่าตลอดทั้งปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ น่าจะกลับมาในประเทศได้ในจำนวนที่จำกัด และปรับการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลง อีกครั้งจาก 2 ล้านคนเหลือ 1 ล้านคน จากสถานการณ์การฉีดวัคซีนของไทยในปัจจุบันที่ค่อนข้างช้า

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด KKP Research ปรับการคาดการณ์ GDP ขึ้นจากการเติบโตที่ 2.0% เป็น 2.7% แต่ระดับการฟื้นตัวที่ปรับดีขึ้น ก็ยังถือว่าฟื้นตัวช้ามาก เมื่อเทียบกับการหดตัวในปีก่อน และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าแนวโน้มการเติบโตก่อนโควิด

KKP Research ระบุว่า เศรษฐกิจไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในปี 2563 และในปี 2564 ก็จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ฟื้นตัวได้ช้าที่สุดเช่นกัน เป็นภาพกลับกันกับเศรษฐกิจโลก ที่กำลังจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หมายความว่าสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญคือกลายเป็น “ประเทศเศรษฐกิจฝืด ในโลกของเงินเฟ้อ” ซึ่งกำลังจะเจอกับความเสี่ยงสำคัญ จากราคาสินค้าวัตถุดิบหลายอย่าง เช่น ราคาน้ำมันดิบที่ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นไปเกินกว่าระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว ผลต่อเนื่อง คือ ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยกำลังจะสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว

เมื่อราคาน้ำมันทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ผลกระทบอีกอย่างที่เกิดต่อไทย คือ ผลต่อการเกินดุลการค้าในประเทศ ที่จะมีขนาดเล็กลง ในปี 2563 ที่ผ่านมา การส่งออกไทยหดตัวค่อนข้างมาก และรายได้จากการท่องเที่ยวหายไป แต่ประเทศไทย ยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้อยู่ เพราะการนำเข้าหดตัวอย่างรุนแรง แต่มองไปข้างหน้า การส่งออกที่ยังไม่ขยายตัวได้มากนัก

ในขณะที่การนำเข้าน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้บ้างแล้ว ประกอบกับราคาน้ำมันที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ระดับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยลดลง KKP Research ประเมินว่าจากปัจจัยทั้งหมดค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงในช่วง 31.50 – 32.00 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของไทยปรับตัวสูงขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจยังชะลอตัวอยู่มาก สาเหตุเป็นเพราะตลาดการเงินไทยที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดการเงินของสหรัฐ ทำให้เมื่อดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยในไทยเองมักจะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยดูจากตัวเลขอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของไทยปรับตัวสูงขึ้นจากสิ้นปีที่ 1.3% กลายเป็น 2.0% แล้วในปัจจุบัน การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังแย่สร้างผลกระทบที่ตามมา คือ

  1. ต้นทุนในการระดมทุนของบริษัทที่จะเพิ่มสูงขึ้น
  2. ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท และการออกหุ้นกู้ใหม่ของบริษัทเอกชน (Rollover risk) อาจปรับตัวสูงขึ้น

เศรษฐกิจไทย

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ไว้ที่ 2.6% ในกรณีพื้นฐาน แต่ปรับกรอบประมาณการจากเดิมที่ 0.0 – 4.5% มาที่ 0.8% – 3.0%

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า กรอบประมาณการใหม่สะท้อนความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจที่ลดลง ตามความคืบหน้าอย่างมากของการกระจายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจหลัก ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลก คาดว่า จะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และส่งผลบวกต่อภาพการส่งออกไทยมากขึ้น

ขณะที่ การปรับลดกรอบบนสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่ยังใช้เวลา และช้ากว่าเศรษฐกิจโลกเนื่องจากมีการพึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ทำให้แปรผันตามความก้าวหน้าของการกระจายวัคซีนและการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยเป็นสำคัญ

ด้านนางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ มองว่า จากการประเมินอัตราการฉีดวัคซีนของตลาดสำคัญ 10 แห่งไปถึงช่วงเดือนกันยายน ทำให้ประเมินว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจาก 10 ตลาดสำคัญ (ได้แก่ จีน ยุโรปตะวันตก สหรัฐ รัสเซีย เอเชียและอาเซียนบางประเทศ) อาจทำได้ราว 1.9 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวมกับช่วง 9 เดือนแรกของปี จึงเห็นว่า ตัวเลข 2 ล้านคนในปี 2564 ยังมีความเป็นไปได้ ภายใต้เงื่อนไขวัคซีนพาสปอร์ตสามารถดำเนินการได้ หรือการเดินทางระหว่างประเทศมีข้อจำกัดน้อยลง

ส่วนประเด็นติดตามที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ได้แก่ การกระจายวัคซีนในประเทศและแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาครัฐ โดยแม้ว่าการทยอยเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศจะยังไม่ครอบคลุมประชากรจำนวนมาก จนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ก็คาดว่าหากมีการแพร่ระบาดอีกระลอกในประเทศจะไม่รุนแรงเท่ากับที่ผ่านมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo