Business

เตือนรัว ๆ อย่าหลงเชื่อ ยังไม่มีใครได้รับอนุญาต ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม

ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม อย่าหลงเชื่อ อย. ยืนยัน ยังไม่มีรายใด ยื่นเอกสารขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง เพื่อมาปลูกและขาย

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากที่มีกระแสตื่นตัวการปลูกกัญชงอย่างกว้างขวาง คณะกรรมการอาหารและยา มีความห่วงใยเกษตรกรที่ให้ความสนใจ จะปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม โดยเตือน อย่าหลงเชื่อ หากมีผู้มาชักชวน ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม

ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีบริษัทใด หรือเกษตรกรรายใด ยื่นเอกสารขออนุญาต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ กัญชงเพื่อมาปลูกและขาย แต่มีการไปรวบรวมเกษตรกร ที่ต้องการปลูกกัญชง แล้วทำเป็นเครือข่ายเกษตรกร ปลูกกัญชงในหลายจังหวัด

จากการประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์​ที่ผ่านมา เป็นเพียงการอนุญาตให้บริษัท จำนวน 7 บริษัท เป็นผู้มีคุณสมบัตินำเข้าเมล็ดพันธุ์ แต่ยังไม่มีใครได้รับอนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากการนำเข้าในแต่ละครั้ง ต้องได้รับใบอนุญาตทุกครั้งที่นำเข้าด้วย

นอกจากนี้ ยังไม่มีบริษัทได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชง เนื่องจากการขออนุญาตปลูกกัญชง จะต้องแจ้งที่มาของแหล่งเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ และจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่จะปลูก รวมถึงเมื่อเก็บผลผลิตได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปลูก เพื่อเก็บเมล็ดสกัดน้ำมัน หรือปลูก เพื่อเก็บช่อดอก ไปสกัดสารสำคัญ จะนำส่งให้โรงงานใด เป็นผู้รับซื้อ ต้องแจ้งให้ครบถ้วน

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้ อย. อำนวยความสะดวก ผู้ขออนุญาต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ และเกษตรกร ขออนุญาตปลูก ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ที่จะนำผลผลิตจากกัญชง ไปผลิตสินค้าต่าง ๆ เพื่อให้กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้เกษตรกร แต่ต้องมีการดำเนินการ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทุกขั้นตอน

สำหรับ อย. พร้อมที่จะให้การสนับสนุน และแนะนำขั้นตอน การขออนุญาต แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ จึงขอให้ผู้ที่สนใจจะปลูกกัญชง และทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกัญชง ติดต่อขออนุญาตด้วยตนเอง และขอเตือนเกษตรกร ประชาชน ระวังถูกหลอกลวง จากผู้แอบอ้างว่า ได้รับอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ได้รับอนุญาตปลูก ให้เข้าร่วมเครือข่าย โดยต้องจ่ายเงิน ค่าเข้าร่วมเครือข่าย

นพ.ไพศาล กล่าวว่า การปลูกกัญชง เกษตรกรที่จะปลูก ต้องขออนุญาตด้วยตนเอง เป็นรายบุคคล ไม่สามารถใช้ใบอนุญาต เป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย หรือนำใบอนุญาตของบุคคลอื่น มาสวมได้ เพราะจะต้องระบุพื้นที่ปลูกชัดเจน เปลี่ยนพื้นที่ปลูกไม่ได้ และต้องปลูกตามระยะเวลา ที่ขออนุญาต

ในส่วนของผู้ประกอบการ ผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่ต้องการใช้สารสกัดจากกัญชง เป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยา ก็ขอให้พิจารณาให้ดี เนื่องจากขณะนี้ ยังไม่มีโรงงานใดได้รับอนุญาต ให้สกัดสารสำคัญ

กระแสข่าวที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างกระแส เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจอื่น ๆ มากกว่าการสร้างธุรกิจ ที่เกี่ยวกับกัญชง ซึ่ง อย.ในฐานะหน่วยงานที่ต้องพิจารณา ออกใบอนุญาตทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตามที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น จึงขอเตือนให้ประชาชน และผู้ประกอบการ พิจารณาให้ดี หากไม่แน่ใจ ขอให้สอบถามได้ที่ อย. หรือที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th/Pages/HomeP_D2.aspx กด กัญชง รวมทั้งขอให้ผู้ที่สนใจปลูก และประกอบธุรกิจ รีบเสนอขออนุญาต พร้อมเสนอแผนการผลิต ที่เหมาะสมเข้ามาด้วย เพื่อที่คณะกรรมการจะได้พิจารณาอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อย.ได้ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ โดยกรมวิชาการเกษตร อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลทางวิชาการ การปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ในประเทศไทย โดยเป็นการศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และอากาศของประเทศไทย รูปแบบการปลูกที่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน ยังพิจารณาว่า อาจจัดทำโซนนิ่ง การปลูกกัญชง ในประเทศไทย เพราะสภาพภูมิอากาศในบางพื้นที่ อาจจะเหมาะกับบางสายพันธุ์ และไม่เหมาะกับบางสายพันธุ์ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ กรมวิชาการเกษตร จะพัฒนาสายพันธุ์ ที่เหมาะกับประเทศไทย และจัดทำต้นกล้าจำหน่าย ให้แก่เกษตรกร ด้วย เพื่อลดความเสี่ยง การปลูกกัญชง ให้แก่เกษตรกร แลเพื่อให้ได้ผลผลิต ที่โรงงานต้องการ ในราคาที่เหมาะสม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo