Business

แบรนด์อย่าปล่อยเลยผ่าน ‘ดนัย จันทร์เจ้าฉาย’ แนะ 5 เหตุผลควรใช้ ‘Clubhouse’

“ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” แห่ง ดีซี คอนซัลแทนส์ ชี้ 5 เหตุผลที่แบรนด์ควรใช้ “Clubhouse” ในการสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาด

ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด กูรูด้านการประชาสัมพันธ์แถวหน้าของไทย กล่าวว่า Clubhouse เป็นเครื่องมือที่สามารถตอบโจทย์ การสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาดได้ในยุคปัจจุบัน ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด โดยให้ 5 เหตุผลทึ่แบรนด์ควรใช้ Clubhouse ดังนี้

"ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

  • ใช้สร้างความสัมพันธ์ (Brand Connection and Community) และชุมชนของตัวเองได้

การจำกัดการเข้าใช้งานทำให้ Clubhouse มีคุณค่ามากขึ้น แบรนด์จึงสามารถสร้างชุมชนของตัวเอง ด้วยการตั้งหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจ และมีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ เช่น เรื่องสุขภาพ การออกกำลังกาย การพัฒนาตนเอง การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ประวัติศาสตร์

ผลลัพธ์ที่ได้คือ จะทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังคงอยู่ การใช้ Clubhouse เป็นแพลตฟอร์มน่าสนใจ ที่สามารถนำมาทดแทนการจัดงานสัมมนา การจัดการประชุม Symposium ระดับใหญ่ ที่มีห้องสัมมนาย่อยหลากหลายหัวข้อ และผู้บรรยาย เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเลือกเข้าฟังในหัวข้อที่ตนสนใจได้

ทั้งนี้ Clubhouse และการสัมมนามีบรรยากาศคล้ายกัน คือ เป็นการฟังสดแบบเรียลไทม์ และไม่สามารถฟังย้อนหลังได้

ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

  • สร้างความชัดเจนให้กับแบรนด์ (Brand Positioning)

การใช้ Clubhouse เป็นโอกาสของแบรนด์ ในการแสดงตัวตน และจุดยืนของแบรนด์ ไม่ว่าจะด้วยการตั้งประเด็นสนทนา ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ หรือแม้แต่การเข้าร่วมห้องสนทนาของผู้อื่น แล้วใช้โอกาสนั้นในการแสดงความคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ และแสดงถึงตัวตนของแบรนด์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความแข็งแรง และส่งเสริมแบรนด์ได้อีกทางหนึ่ง

เห็นได้จากขณะนี้ มีผู้บริหารหลายองค์กร และนักสื่อสารการตลาด ได้เข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้น แต่ประเด็นด้านการเมือง ที่กำลังมาแรง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่นักการสื่อสารการตลาด พึงระมัดระวัง และให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะมีผลกระทบต่อ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้

  • ควบคุม key message ในการสื่อสารได้

ขณะนี้มีสื่อและองค์กรหลายแห่ง เริ่มนำ Clubhouse มาใช้ในการจัดกิจกรรม เช่น การแถลงข่าว งานเสวนา เพราะ moderator ของห้องสนทนาแต่ละห้อง มีอำนาจในการกำหนดว่า ผู้ฟัง หรือผู้เข้าร่วมห้องสนทนา คนไหนสามารถพูดได้ สามารถปิดเสียงคนที่กำลังพูดอยู่ได้ จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ และทิศทางการสนทนาได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับทักษะปฏิภาณไหวพริบ ของ moderator ด้วย ที่จะทำให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น จากประสบการณ์ของคนที่เข้าใช้ Clubhouse พบว่า คุณภาพเสียงมีความชัดเจน มีเสียงก้อง และเสียงรบกวน น้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่น จึงเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจ และมีประสิทธิภาพ

Clubhouse
Premium mobile phone screen mockup template
  • เป็นเครื่องมือในการฟังเสียงผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง (deep listening)

การสนทนาใน Clubhouse ต่างจากพอดแคสต์ ตรงที่เป็นการสื่อสารสองทาง (two-way communication) ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังแบบเรียลไทม์ มีการถามตอบ แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ทันที แบรนด์จึงสามารถสำรวจความคิดเห็นที่ผู้บริโภค มีต่อแบรนด์ได้โดยตรง ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้บริโภค หรือ consumer insight ที่นำไปใช้ในการปรับแผน หรือวางกลยุทธ์การตลาด รวมถึงสามารถเก็บไอเดียจากการพูดคุย เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำ คอนเทนต์ มาร์เก็ตติ้ง ได้อีกด้วย

  • Audio is Power! เสียงทรงพลัง

“เสียง” เป็นสิ่งที่ทรงพลังใน Clubhouse เราสามารถใช้เสียง เพื่อสร้างหรือส่งเสริมแบรนด์ได้เลย โดยไม่ต้องเห็นรูปร่างหน้าตา ไม่ต้องแต่งหน้าทำผม ใส่สูทผูกไท นุ่งผ้าไหม หรือเดินทางมาพบเจอกัน

ดังนั้นจึงควรฝึกการพูด และการใช้เสียงให้มีพลังดึงดูดความสนใจ และทำให้ผู้ฟังเห็นภาพได้ชัดเจน เป็นการสร้างมโนภาพ หรือ Theatre of the Mind ให้เกิดขึ้นในใจกลุ่มเป้าหมาย

Clubhouse จะได้รับความนิยมไปอีกนานแค่ไหน ยังไม่มีใครตอบได้ แต่แบรนด์หยุดไม่ได้ และไม่ควรปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไป และควรนำข้อดีของช่องทางการสื่อสารต่างๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสาร สร้างสัมพันธ์กับผู้บริโภค และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo