Business

เมื่อเงินในกระเป๋าวิกฤติ ผ่อนบ้านไม่ไหว ทำอย่างไรไม่ให้ถูกยึดทรัพย์ อ่านเลย!!

เมื่อเงินในกระเป๋าวิกฤติ จากสถานการณ์ “โควิด” ที่ระบาดหนัก ทำให้หลายคนตกงาน – ถูกลดเงินเดือน ผ่อนบ้าน ไม่ไหว ต้องทำการประนีประนอมกับธนาคารอย่างไร เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกยึดทรัพย์สิน

จากการระบาดของ “โควิด” ที่ส่งผลเป็นอย่างมากต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทย ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องประสบกับปัญหาขาดรายได้ ทำให้ผู้ที่มีภาระก้อนใหญ่อย่างการผ่อนบ้านอาจจะผ่อนต่อไม่ไหว บทความนี้จะแนะแนวทางสำหรับผู้ที่มีแนวโน้มผ่อนบ้านไม่ไหว ต้องทำการประนีประนอมกับธนาคารอย่างไร เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกยึดทรัพย์สิน

เมื่อรู้ตัวว่า “ผ่อนไม่ไหว” ให้ติดต่อธนาคารทันที!

ธนาคารแต่ละแห่งนั้นเข้าใจถึงผลกระทบที่ลูกค้าได้รับจาก “โควิด” เป็นอย่างดี และพร้อมที่จะประนีประนอมการผ่อนชำระ ซึ่งสิ่งแรกที่เราควรทำเมื่อรู้ตัวว่าผ่อนบ้านไม่ไหวนั่นก็คือเข้าไปติดต่อธนาคารโดยเร็วที่สุด

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าเข้าไปพูดคุยกับธนาคารด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีกำลัง ผ่อนบ้าน ต่อ และเลือกที่จะไม่จ่ายแล้วเงียบหายไปดื้อๆ ท้ายที่สุดก็มีการฟ้องร้องและถูกยึดทรัพย์

ถ้าหากปล่อยเอาไว้ผลเสียนั้นไม่ได้มีแค่ทรัพย์สินที่ถูกยึด เพราะถ้าหากทรัพย์สินมีมูลค่าน้อยกว่ายอดหนี้ คุณก็ยังคงต้องหาเงินมาชำระหนี้ส่วนที่ขาด และยังรวมไปถึงประวัติทางการเงินที่จะเสียหายหนัก ซึ่งส่งผลถึงการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในอนาคตอีกด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ควรติดต่อไปยังธนาคารให้เร็วที่สุด

สำหรับลูกค้า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. หากต้องการติดต่อธนาคารเพื่อแก้ปัญหาการผ่อนชำระ หรือยื่นขอประนอมหนี้ ธอส. พร้อมให้คำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็น

ผ่อนบ้าน

  • การขอผ่อนชำระยอดหนี้ค้าง
  • ยื่นขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ
  • ชะลอการฟ้องร้อง
  • ประนีประนอมยอมความ
  • ชะลอการยึดทรัพย์
  • ชะลอการขายทอดตลาด

สำรวจมาตรการช่วยเหลือกรณี “โควิด” จากธนาคารของคุณ

แต่ละธนาคารนั้นมีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 ซึ่งแตกต่างกันไป โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการรวบรวมไว้ให้เรียบร้อยแล้ว สามารถดูได้ผ่านลิงก์นี้ >>> มาตรการพักชำระหนี้จากแต่ละธนาคาร

จากข้อมูลที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้รวบรวมมาให้นั้น จะเห็นได้ว่ามาตรการช่วยเหลือนั้นจะมีอยู่ 5 รูปแบบด้วยกัน แต่ก่อนที่จะตกลงเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ แนะนำว่าให้ตรวจทานเงื่อนไขให้ดีๆ ก่อนเพราะบางมาตรการก็ช่วยให้คุณสบายแค่เบื้องต้น แต่อาจสร้างความลำบากในภายหลังก็เป็นได้

มาเปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละรูปแบบก่อนตัดสินใจเข้าร่วม โดยสามารถดูได้ดังนี้

รูปแบบที่ 1 พักชำระเงินต้น

  • ข้อดี: ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ไม่ต้องจ่ายเงินต้น
  • ข้อเสีย: จำนวนเงินต้นก็ยังคงเดิมไม่ได้มีการลดลง สรุปแล้วเมื่อครบกำหนดการพักชำระ จำนวนเงินต้นก็ยังเหลือเท่าเดิม

รูปแบบที่ 2 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย

  • ข้อดี: เลื่อนกำหนดชำระหนี้สินทั้งหมดออกไปก่อน ไม่ต้องชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
  • ข้อเสีย: อัตราดอกเบี้ยก็ยังถูกคิดอยู่ดังเดิม เพราะฉะนั้น เมื่อครบกำหนดพักชำระตามที่ระบุไว้ ภาระหนี้ทั้งต้นทั้งดอกก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ระยะเวลาการผ่อนบ้านยาวนานขึ้นอีก

รูปแบบที่ 3 ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

  • ข้อดี: ผ่อนชำระรายเดือนตามปกติ แต่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ลดภาระที่จะต้องจ่ายรายเดือนลงได้ระดับหนึ่ง โดยเปอร์เซ็นต์ในการลดลงจะขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร
  • ข้อเสีย: อาจช่วยลดภาระที่ต้องจ่ายในรายเดือนได้ไม่มากนัก

รูปแบบที่ 4 พักหนี้

  • ข้อดี: เลื่อนกำหนดชำระหนี้สินทั้งหมดออกไปก่อน ไม่ต้องชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และในระยะเวลานั้นจำนวนหนี้ก็ไม่เพิ่มขึ้น หมดกังวลเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง
  • ข้อเสีย: จำนวนเงินต้นเหลือคงเดิม ระยะเวลาผ่อนอาจจะยาวนานขึ้น

รูปแบบที่ 5 ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่

  • ข้อดี: เป็นการปรับโครงสร้างของหนี้ใหม่ทั้งหมด คล้ายการรีไฟแนนซ์กับธนาคารเดิม กระจายอัตราการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ช่วยลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน
  • ข้อเสีย: ระยะเวลาการผ่อนยาวนานขึ้น

ผ่อนบ้าน

สำหรับมาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกค้า ธอส.

ลูกค้าที่กู้ผ่อนบ้านกับ ธอส. ทางธนาคารได้รับทราบถึงปัญหาสถานการณ์ “โควิด” ที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ซึ่ง ธอส. เองก็ได้มีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่เผชิญกับปัญหาในช่วงนี้

โดย ธอส. ได้ขยายความช่วยเหลือ “มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” และ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ ปี 2564” เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าทั้งหมด โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. สำหรับลูกค้าที่เคยเคยเข้าร่วม หรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส.

มาตรการที่ 9 : สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ก.พ.-ก.ค. 64)

วิธียื่นคำร้อง : ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน GHB ALL ภายในวันที่ 15 – 29 มกราคม 2564

2. สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้

มาตรการที่ 10 : ลดเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ก.พ.- ก.ค.64)

วิธียื่นคำร้อง : ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน GHB ALL ภายในวันที่ 15 มกราคม – 26 กุมภาพันธ์ 2564

3. สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส.

มาตรการที่ 11 : สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(ก.พ.-ก.ค. 64)

วิธียื่นคำร้อง : ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน GHB ALL ภายในวันที่ 1 – 26 กุมภาพันธ์ 2564

4. สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต

มาตรการที่ 12 : มีนโยบายช่วยผ่อนชำระด้วยกัน 2 กรณี ได้แก่

1. ลดเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหรือไม่เกินมิถุนายน 2564

2. พักชำระหนี้ถึงมิถุนายน 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้

วิธียื่นคำร้อง : ติดต่อยื่นคำขอเข้ามาตรการที่ 12 ได้ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาทั่วประเทศ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก ธอส.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo