เรียกชื่นมื่นได้ไหม? “BTS – รฟม.” จับมือ ลงนาม “รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย” ลงทุน 4 พันล้าน กรุยทางเข้า “เมืองทอง” คาดเปิดใช้ปลายปี 67
วันนี้ (23 ก.พ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM ได้ลงนาม สัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ณ อาคารสโมสรและหอประชุม ชั้น 3 กระทรวงคมนาคม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในฐานะประธานในพิธีลงนามสัญญาฯ ว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีความก้าวหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้าง และงานระบบรถไฟฟ้า
และเพื่อยกระดับโครงข่ายเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
การ ลงนาม สัญญาร่วมลงทุนฯ ระหว่าง รฟม. และ NBM ผู้รับสัมปทานโครงการ รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ในวันนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อันจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ส่วนต่อขยาย “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” เปิดปี 67
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รฟม. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ในรูปแบบสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ NBM ซึ่งเริ่มดำเนินงานก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2565
ในขณะเดียวกัน รฟม. ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมโครงการ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี พบว่า โครงการฯ ดังกล่าวนั้น เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้อีกทางหนึ่ง
รฟม. จึงได้เสนอโครงการฯ ตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องจนแล้วเสร็จ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี มีวงเงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม
แนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT–01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT–02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
โครงสร้างรถไฟฟ้าในช่วงนี้เป็นแบบยกระดับ ประกอบด้วย 2 สถานี โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2567 และเมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณผู้โดยสารตามคาดการณ์ 13,785 คนต่อเที่ยวต่อวัน
รายงานข่าวเปิดเผยว่า NBM ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนหลัก เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง 3 บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถือหุ้นในสัดส่วน 75%, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC สัดส่วน 15% และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH สัดส่วน 10%
โดยขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความคืบหน้าและได้ลงนามสัญญาส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ในวันนี้ แต่อีกทางหนึ่งเครือ BTS และ รฟม. ก็กำลังมีคดีฟ้องร้องเรื่องการล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในส่วนการก่อสร้างงานโยธาฝั่งตะวันตกและการเดินรถตลอดเส้นทาง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘BTS’ ยื่นฟ้อง ‘รฟม.’ ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มกลางอากาศ บริษัทเสียหาย
- ‘ศักดิ์สยาม’ แจงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ถูกกว่า ‘สายสีเขียว’ มาก
- ไฟเขียว EIA ‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ แต่ยังติดหล่มเจรจาผลประโยชน์ BTS-BEM