Business

‘BTS’ ยื่นฟ้อง ‘รฟม.’ ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มกลางอากาศ บริษัทเสียหาย

ระเบิดศึกรอบใหม่! “BTS” ยื่นฟ้อง คดีอาญาฯ “รฟม.” ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ล้มประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” กลางอากาศ บริษัทได้รับความเสียหาย

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานและเดินรถไฟฟ้า BTS ได้เดินทางไป ยื่นฟ้อง ผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172

5465 bts ยื่นฟ้อง รฟม. รถไฟฟ้าสายสีส้ม

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้ดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 165 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่ง ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

สืบเนื่องจากกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในส่วนงานโยธาฝั่งตะวันตกและเดินรถตลอดเส้นทาง ซึ่ง รฟม. และผู้เกี่ยวข้องได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก หลังจากเอกชนได้ซื้อซองประมูลแล้ว โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่ง BTSC ได้ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และศาลได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ รฟม. ระงับการใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แก้ไขไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

แต่ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา รฟม. กลับทำการยกเลิกการประมูล ส่งผลให้ BTSC ผู้ยื่นซองข้อเสนอได้รับความเสียหาย จึงต้องนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในครั้งนี้

ทั้งนี้ ศาลได้รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 และนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2564

ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ย้อนอ่านแถลงการณ์ รฟม.

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีมติให้ยกเลิกการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดย รฟม. ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่อง การพิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีเนื้อหาดังนี้

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้พิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ รวมถึงสถานะของการดำเนินงานในปัจจุบันและเห็นว่า

ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี ส่งผลให้ไม่สามารถคาดการณ์กรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ ซึ่งหากปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไป อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้การคัดเลือกเอกชนเกิดความล่าช้า และอาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในภาพรวม

ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ จึงมีมติโดยสรุปว่า ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนสายสีส้มฯ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และได้มอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น

  • ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี)
  • ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

fig 06 11 2020 10 24 01

ก่อนยกเลิกประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

รฟม. เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อกลางปี 2563 ประกอบด้วยงานเดินรถตลอดสาย ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลค่ารวม 1.4 แสนล้านบาท

ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ปรับแก้เกณฑ์การให้คะแนนการประมูลกลางอากาศ จากเดิมจะตัดสินผู้ชนะด้วยข้อเสนอด้านราคา 100% ก็เปลี่ยนเป็นให้คะแนนแบบถ่วงน้ำหนัก ข้อเสนอด้านเทคนิค 30% และข้อเสนอด้านผลตอบแทน 70%

ในการประมูลครั้งนี้มีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่มคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งนำโดยเครือบีทีเอส (BTS) โดย BTS มองว่าการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การให้คะแนนดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางให้ รฟม. กลับมาใช้เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มแบบเดิม ซึ่งศาลฯ ก็ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ BTS ร้องขอ

ด้าน รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและเลื่อนกระบวนการเปิดซองข้อเสนอออกไปก่อน เพื่อรอฟังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด แต่ล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติยกเลิกการประมูลในปี 2563 เพื่อเริ่มเปิดประมูลใหม่ ด้วยเหตุผลว่ากระบวนการศาลใช้เวลาค่อนข้างนาน เกรงว่าจะกระทบต่อการดำเนินโครงการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo