Business

‘ดุสิตธานี’ เซ่นพิษโควิด ขาดทุนพันล้านปี 63 ลุ้นวัคซีน ฟื้นท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง

ดุสิตธานี เซ่นพิษโควิด ขาดทุน 1,011 ล้านบาท ลุ้นวัคซีน ฟื้นท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง มั่นใจกลยุทธ์กระจายความเสี่ยง ช่วยลดผลกระทบ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาจากระลอกแรกในปี 2563 จนถึงปี 2564 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่ง กลุ่มดุสิตธานี ก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน ส่งผลให้ ดุสิตธานี เซ่นพิษโควิด ผลประกอบการขาดทุนถึงพันล้านบาท

ดุสิตธานี เซ่นพิษโควิด

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี (DTC) เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2563 บริษัทมีผลขาดทุน 1,011 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง และยืดเยื้อ ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งในส่วนที่บริษัทเป็นเจ้าของ และรับเป็นผู้บริหาร ต่างก็ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลประกอบการของดุสิตธานีในปี 2563 ที่ผ่านมา จะประสบภาวะขาดทุน แต่ก็เป็นไปตามที่ฝ่ายบริหารคาดการณ์ไว้ เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้เนื่องจาก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงแรมต้องหยุดให้บริการ ในช่วงไตรมาสสอง จากการแพร่ระบาดในระลอกแรก และประกาศล็อกดาวน์

จนกระทั่งเริ่มมีมาตรการผ่อนคลาย ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา จึงเริ่มเห็นสัญญาณการค่อย ๆ ฟื้นตัวของรายได้ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2563 โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไตรมาสต่อไตรมาสเพิ่มขึ้น 60.3% แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกสองในปลายปีที่ผ่านมา

ศุภจี สุธรรมพันธุ์
ศุภจี สุธรรมพันธุ์

นางศุภจี กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ ของดุสิตธานี ผนวกกับกลยุทธ์หลักของบริษัท ที่เน้นการกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ ด้วยการกระจายการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ความคืบหน้าในการแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก และในหลายประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับบุคลากรที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก ๆ โดยทีมงานของดุสิตธานี ในประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับการฉีดวัคซีนกันเป็นส่วนมากแล้ว ทำให้เริ่มมั่นใจว่า จะเห็นการท่องเที่ยวค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา ดุสิตธานีไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ปรับโมเดลเดินหน้าสร้างรายได้ ผ่านธุรกิจที่นอกเหนือจากห้องพักโรงแรม (non-room business) และเตรียมการรองรับกับการกลับมา ของการท่องเที่ยว โดยปรับรูปแบบการท่องเที่ยวให้น่าสนใจมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ที่พัฒนาเป็นแหล่งกิจกรรมท่องเที่ยว ในแนววิถีธรรมชาติ มีแปลงนาที่ปลูกข้าว และเก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นจุดขายที่มีความโดดเด่นในอนาคต และจะใช้โมเดลนี้ ในโรงแรมต่าง ๆ ของกลุ่มดุสิตธานีด้วย

ขณะที่ธุรกิจการศึกษา ในส่วนของวิทยาลัยดุสิตธานี ก็พบว่ามีแนวโน้มที่ดี โดยสามารถรับนักศึกษาได้เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้วถึง 17% โดยทางวิทยาลัยมีหลักสูตร ที่ตอบรับกับความต้องการ ของผู้ที่ต้องการเรียน เพื่อหารายได้เสริม และไปประกอบวิชาชีพเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีแผนขยายธุรกิจการศึกษา ให้เติบโตต่อเนื่อง ด้วยการเปิดโครงการ Food School เพื่อเพิ่มทางเลือก สำหรับตลาดบน

ในส่วนของธุรกิจอาหาร คาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตต่อเนื่องจากปี 2563 ซึ่งปัจจุบัน รายได้จากธุรกิจอาหาร ยังเป็นไปตามเป้าหมาย โดยรายได้หลัก มาจาก Epicure Catering ซึ่งให้บริการจัดหาอาหาร (Catering) ให้แก่โรงเรียนนานาชาติ อีกทั้งในปีที่ผ่านมา ได้ขยายการลงทุนไปยังเวียดนาม และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปีนี้

ด้านธุรกิจอาหาร แบรนด์ “คาวาอิ” ในปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มจุด grab & go ที่เวอร์จิ้น ฟิตเนส คลับ อีก 3 แห่ง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่, ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ และตึกเอ็มไพร์ ส่วนปีนี้จะเปิด แฟล็กชิฟสโตร์ เพิ่มในเดือน พ.ค. 2564

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเริ่มเปิดการขายโครงการที่พักอาศัย ดุสิต เรสซิเดนเซส  ในโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ในช่วงไตรมาสสองของปีนี้

แนวโน้มที่ดีของธุรกิจอื่น ๆ ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ของกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง จากการกระจายการลงทุน ในธุรกิจที่มีความหลากหลาย ทำให้สามารถสร้างสมดุลให้กับธุรกิจได้ เห็นได้จากการที่รายได้หลัก ที่มาจากธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภาพรวมของกลุ่มดุสิตธานี ต้องหยุดชะงัก

หลังจากนี้ กลุ่มดุสิตธานีเชื่อว่า จะสามารถสร้างการเติบโตได้ ภายใต้ฐานรากที่แน่นหนา เพราะบทเรียนตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ทำให้เรียนรู้ที่จะปรับตัว และลดค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด ดังนั้น เมื่อโลกปลดล็อคจากโควิด-19 จึงเชื่อว่า ฐานรากที่วางไว้ จะสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo