Business

โควิด เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย ตั้งการ์ด รัดเข็มขัดแน่น ลดรายจ่าย

โควิด เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย ตั้งการ์ดรัดเข็มขัดแน่น ลดรายจ่ายลงเกือบทุกภูมิภาค ทุกวัย มองหาสินค้าที่ใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบหลายด้าน รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งจากผลสำรวจของสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท ฮาคูโฮโด แบงคอก เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่าย ของผู้บริโภคในประเทศไทย พบว่า โควิด เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย เน้นรัดเข็มขัด ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเพิ่มขึ้น

โควิด เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย

นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถาบันวิจัยฯ ได้ทำการศึกษา เกี่ยวกับแนวโน้มการบริโภคของคนไทยทุก ๆ 2 เดือน โดยครั้งล่าสุด เป็นการสำรวจทางออนไลน์ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากผู้บริโภค 1,200 คน ทั่วประเทศ พบข้อบ่งชี้ เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย ที่สำคัญ 2 ข้อ ได้แก่

1. คนไทยมีแนวโน้มระมัดระวังการใช้จ่าย จนกว่าสถานการณ์ การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ จะดีขึ้น

การกลับมาของโควิด ทำให้ความต้องการในการใช้จ่าย และระดับความสุข ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเทียบกับผลการสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากความไม่แน่นอน และสภาพเศรษฐกิจ ที่อยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ พบว่า แนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายอยู่ที่ 54 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลงจาก 57 คะแนน ในการสำรวจครั้งก่อน

ฮาคูโฮโด เผยผลวิจัย 02

 

ในขณะที่ คะแนนความสุขในปัจจุบัน อยู่ที่ 64 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลงจาก 66 คะแนนในการสำรวจครั้งก่อน

เหตุผลของผู้ที่ให้คะแนนความต้องการใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ต้องการตุนสินค้า เพื่อเลี่ยงการออกไปข้างนอก ใช้บริการส่งอาหารมากขึ้น ซื้อของให้รางวัลตัวเอง หรือให้เป็นของขวัญแก่คนรัก

ส่วนเหตุผลของผู้ที่ให้คะแนนความต้องการใช้จ่ายต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เช่น รายได้ลดลง จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด ซื้อเพื่อมาแทนของเก่า กังวลเรื่องการเงินของครอบครัว และว่างงาน

โควิด เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย

 

2. สินค้าที่ตอบสนองหลากหลายจุดประสงค์การใช้งาน เป็นที่ต้องการอย่างเห็นได้ชัด

ผู้ตอบแบบสำรวจทั่วประเทศ พูดถึงการซื้อสินค้าและบริการ ที่ไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวก แต่ยังช่วยตอบสนองความต้องการอื่น ๆ ในชีวิต เช่น สมาร์ทโฟน (ใช้ทำงานและให้ลูกใช้เรียนออนไลน์) รถยนต์ (สำหรับการพักผ่อนและการทำงาน) ของตกแต่งบ้าน (เพื่อความสวยงามและความสะดวกสบาย)

ด้าน นางสาวมนัสริน ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด แบงคอก และ นางสาวพร้อมพร สุภัทรวณิช ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสอง ทำให้คนระวังตัว ต้องการกักตุนสินค้ามากขึ้น และมุ่งใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น

สำหรับสินค้าหรือบริการ ที่ผู้บริโภคอยากซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน เสื้อผ้า และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

โควิด เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย

นอกจากนี้ เมื่อจำแนกตามภาค พบว่า แนวโน้มความต้องการในการใช้จ่าย ลดลงเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และภาคตะวันออก มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ กลับภูมิลำเนา เนื่องจากโควิด

เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ มีเพียงช่วงอายุ 20-29 ปีที่มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่าย คงที่ เนื่องจากต้องการบรรเทาความรู้สึก เบื่อจากการอยู่บ้านเป็นเวลานาน โดยต้องการซื้อ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ ส่วนช่วงอายุอื่น ๆ มีแนวโน้มความต้องการใช้จ่าย ลดลง

ผลการสำรวจยังพบว่า ข่าวการติดเชื้อโควิดระลอกสอง ในช่วงก่อนวันหยุดปีใหม่ ส่งผลให้มีการกล่าวถึงข่าวโควิด เพิ่มสูงขึ้นจาก 4% ในการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็น 81% ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้

ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้อารมณ์รื่นเริงของคนไทย ในช่วงต้นเดือนธันวาคม กลายเป็นความเงียบเหงา ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จากการห้ามการเฉลิมฉลองในที่สาธารณะ และคนไทยส่วนใหญ่ ยกเลิกการเดินทางในประเทศ

นอกจากนี้ ผลกระทบจากกระแสโควิด ทำให้ความร้อนแรงทางการเมือง ซึ่งมีการกล่าวถึงสูงสุด ในการสำรวจครั้งก่อนถึง %57 ลดลงเหลือเพียง 3% เท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo