Business

กลุ่ม CLMV ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ ฟื้นตัวเด่นสุด การเมืองฉุด ‘เมียนมา’ รั้งท้าย

ส่อง เศรษฐกิจ CLMV ไตรมาส 1 “เวียดนาม” ฟื้นตัวโดดเด่น การเมืองฉุด “เมียนมา” รั้งท้าย คาดการส่งออกกับไทยฟื้นตัวช้า ๆ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เผยแพร่บทวิเคราะห์ CLMV Outlook Q1 2021” คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV (ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ในปี 2564 ยังคงมีความแตกต่างกัน โดยเวียดนามจะฟื้นตัวได้เร็วและต่อเนื่องจากภาคการส่งออกที่เข้มแข็ง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ฟื้นตัวได้ช้ากว่า โดยเฉพาะเมียนมาซึ่งล่าสุดเผชิญเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

CLMV เศรษฐกิจ ปี 2564

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2563 โดยเวียดนามและเมียนมามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจลาวและกัมพูชาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบ

ประเทศลาวประสบปัญหาการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือและระดับหนี้สาธารณะที่สูง ซึ่งจำกัดขนาดของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ ในขณะที่กัมพูชาถูกถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms โดยสหภาพยุโรปซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก

ในภาพรวมนั้นแม้เศรษฐกิจ CLMV จะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ในช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยกเว้นเวียดนามซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และความสำเร็จในการควบคุมการระบาดโควิด-19

EIC ประเมิน 3 ปัจจัยหลักในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2564 ได้แก่

  • ประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
  • ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 และ
  • ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา

CLMV Outlook เศรษฐกิจ ไตรมาส 1 2564

แนวโน้มการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2564 สามารถพิจารณาเป็นรายประเทศได้ดังต่อไปนี้

เศรษฐกิจเวียดนาม ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดย EIC คาดว่าจะเติบโตราว 7.0% ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในปี 2563 ด้วยแรงส่งจากการส่งออกที่ไปได้ดีและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการที่สหรัฐ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งแม้จะยังไม่มีมาตรการลงโทษเพิ่มเติมจากสหรัฐ แต่ประเด็นดังกล่าวยังเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกเวียดนามในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจกัมพูชา จะทยอยฟื้นตัวด้วยแรงสนับสนุนจากการส่งออกไปจีนภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีจีน-กัมพูชา (CCFTA) ซึ่งเพิ่งลงนามไป โดยคาดว่าจะกลับมาเติบโต 4.0% ในปี 2564 จาก -1.9% ในปี 2563 ทั้งนี้ สัดส่วนการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่สูง 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะยังคงเป็นปัจจัยฉุดหลักต่อการฟื้นตัวของกัมพูชาจนกว่าจะมีวัคซีนใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาค

ข้อจำกัดทางการคลังจะทำให้ เศรษฐกิจลาว ยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดย EIC คาดว่าจะเติบโต 4.5% ในปี 2564 จาก -0.5% ในปี 2563 เนื่องจากรัฐบาลลาวยังเผชิญปัญหาบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ส่งผลให้ทางเลือกการระดมทุนเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในวงจำกัด ทั้งนี้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จากจีนจะเป็นแรงพยุงสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจลาวในระยะต่อไป

EIC ปรับประมาณการเติบโต เศรษฐกิจเมียนมา ลงมาที่ 0.0% ในปีงบประมาณ 2563/2564 จาก 1.5% ในปีงบประมาณ 2562/2563 และยังคงมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก เนื่องด้วยเมียนมาเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม CLMV ที่ยังเผชิญการระบาดของโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ความไม่แน่นอนทางการเมืองของเมียนมาเป็นความเสี่ยงสำคัญของภูมิภาคที่ต้องจับตามอง แนวโน้มการคว่ำบาตรจากต่างชาติจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจเมียนมาและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั้งในด้านการค้าและการลงทุน

shutterstock 333132284 e1613730087757

สำหรับนัยต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 การส่งออกของไทยไป CLMV ยังคงฟื้นตัวช้า ๆ ในขณะที่การลงทุนโดยตรงของไทย (TDI) มีสัญญาณผ่านจุดต่ำสุด

ภาพรวมนั้นการส่งออกของไทยไป CLMV หดตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 2563 อยู่ที่ -12.0% เมื่อเทียบปีต่อปี จากไตรมาส 3 ซึ่งอยู่ที่ -6.3% เมื่อเทียบปีต่อปี  โดยการส่งออกไปยังเมียนมาที่ลดลง -19.1% ในไตรมาส 4 เป็นแรงฉุดหลัก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลต่อความเข้มงวดของมาตรการควบคุมที่พรมแดน และยังเป็นแรงกดดันต่ออุปสงค์ต่อสินค้าไทย

ขณะที่การส่งออกไปยังเวียดนามที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัว 3.6% ในไตรมาส 4 จากหดตัว -5.8% ในไตรมาส 3 นำโดยรถยนต์และชิ้นส่วน สำหรับ TDI ขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.1% ในไตรมาส 3 ปี 2563 จาก 3.9% ในไตรมาส 2 จากการลงทุนส่วนใหญ่ในเวียดนามในสัดส่วน 49% และเมียนมาในสัดส่วน 22%

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวในปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และไม่ทั่วถึงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV และยังมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนในเมียนมา โดยการค้าและการลงทุนกับเวียดนามจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากกว่ากับประเทศอื่น ๆ ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจเวียดนาม แต่การค้าและการลงทุนกับประเทศที่เหลือยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการค้าการลงทุนในเมียนมาที่มีแนวโน้มถูกชะลอออกไปจากความไม่แน่นอนทางการเมือง

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo