Business

การบินไทยรื้อโครงสร้างองค์กรใหม่เหลือ 5 ระดับ – เลิกจ้างฝ่ายบริหาร 240 อัตรา!

การบินไทยรื้อโครงสร้างใหม่ เลิกจ้างฝ่ายบริหาร 240 อัตรา จาก 740 อัตรา เหลือ 500 อัตรา ตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกพนักงานทำสัญญจ้างใหม่  ปิดฝ่ายช่างอู่ตะเภา 31 มี.ค.นี้  

รายงานข่าวจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ การบินไทยมีการประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างองค์กร และการปรับลดพนักงาน โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหาร ที่ประชุมได้ข้อสรุปดังนี้

1. จะปรับลดตำแหน่งผู้บริหารจาก 740 อัตรา เหลือไม่เกิน 500 อัตรา

2. รวมศูนย์งาน 3 ด้าน (บริหารบุคคล/การเงิน/จัดซื้อ) ไปอยู่ที่ส่วนกลาง

3.  แบ่งระดับโครงสร้างองค์กร ดังนี้

ระดับ CEO (DD)  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ระดับ CHIEF  หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร (Level 13/12)

ระดับ HEAD หัวหน้าฝ่าย / Managing Director กรรมการผู้จัดการ (Level 11/10)

ระดับ TEAM HEAD หัวหน้าหน่วยงาน (Level 9)

ระดับ TEAM LEAD หัวหน้ากลุ่มงาน (Level 8)

4. บำเหน็จแยกเป็น 2 ช่วง เงินเดือนเดิมคูณอายุงานก่อน 1 พฤษภาคม 2564 บวกกับเงินเดือนใหม่คูณอายุงานหลัง 1 พฤษภาคม 2564

การบินไทย 44

การบินไทยรื้อโครงสร้างใหม่ คัดพนักงานจ้างใหม่ 

5. การคัดเลือกพนักงานกลับเข้ามาใหม่ โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกของแต่ละฝ่าย เกณฑ์การคัดเลือก 50% เป็นคะแนน จากส่วนกลาง ( Core Competency + LW20+TWC+ขาดลามาสาย) อีก 50% เป็น Functional Competency หรือความสามารถการทำงานในตำแหน่งตัวเอง

6.  สัญญาจ้างใหม่ นายจ้างเป็นนายจ้างเดิมคือ บริษัทการบินไทย

7. ปิดฝ่ายช่างอู่ตะเภา ในวันที่ 31 มีนาคม 2564

8 . พนักงานที่ไม่ผ่านการคัดเลือกและไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร ( Mutual Separation Plan : MSP B) หรือ MSP C เบื้องต้นจะถูกย้ายไปรวมที่หน่วยงานกลาง

9 .การเกษียณอายุ เมื่ออายุครบ 60 ปี จะเกษียณอายุ ณ วันสิ้นเดือนของเดือนที่อายุครบ 60 ปี

10. มีการเสนอขอแก้ไขข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยจะเปิดโอกาสให้พนักงานที่ลาออกจากกองทุนฯ แต่ไม่ลาออกจากการเป็นพนักงาน ได้รับเงินกองทุนทั้งเงินสะสมของพนักงาน และเงินสมทบจากนายจ้าง

11. พนักงานที่บริษัทรับภาระภาษี อาจได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน เพื่อให้พนักงานรับภาระภาษีเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณของบริษัท

แหล่งข่าว กล่าวว่าด้วยว่าการประชุมครั้งถัดไปจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา14.00 น.

ปิดบริษัทแล้วเปิดใหม่

“การตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาคัดเบือกพนักงานแต่ละฝ่าย เปรียบเสมือนปิดบริษัทแล้วเปิดใหม่ พนักงานที่ผ่านการพิจารณาก็ทำสัญญาใหม่ ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะต้องการลดจำนวนพนักงานลด แต่มีการวิพากวิจารณ์อย่างหนักในการบินไทย ว่าจะเลือกให้ใครอยู่ต่อไปหรือไม่ให้อยู่ต่อ จนสร้างความไม่พอใจให้กับพนักงานจำนวนมาก” แหล่งข่าว กล่าวและว่าภายใต้การปรับโครงสร้างใหม่หลังจากนี้ คาดว่าจะมีพนักงานไม่เกิน 8,000 คน จากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 การบินไทยมีพนักงานทั้งหมด  21,265 คน แต่หลังจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมามีโครงการร่วมใจจากองค์กร ทำให้มีพนักงานสนใจเข้าร่วมโครงการไปจำนวนมาก ปัจจุบัน น่าจะมีพนักงานประมาณ 15,000-16,000 คน

ความวุ่นวายในการบินไทยยังไม่จบสิ้นแค่การปรับโครงสร้างหรือลดจำนวนพนักงานลง แต่การบินไทยยังมีปัญหาใหญ่คือ จะใช้เงินจากที่ไหนในการดำเนินการ โดยเฉพาะการจ่ายพนักงานที่จะสมัครใจลาออก

ก่อนหน้านี้การบินไทย ได้สรุปแผนฟื้นฟูกิจการด้านการปรับลดฝูงบินแล้ว โดยบริษัทปลดระวางเครื่องบิน 3 ประเภท คือ แอร์บัส A-330-300,แอร์บัส A380 และโบอิ้ง 747 คงเหลือเครื่องบิน 3 ประเภทที่จะใช้ในการทำบินต่อไป ได้แก่ โบอิ้ง 777-300ER, โบอิ้ง 787 และแอร์บัส 350-900

ปลดนักบินเป้าหมายใหญ่

การปรับลดฝูงบินครั้งนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักบินที่ทำการบินเครื่องบิน 3 ประเภท รวมประมาณ 395 คน ซึ่งจะต้องถูกปลดออก หรือขอให้เข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออกก่อนกำหนด โดยเฉพาะนักบินที่มีอายุเกินกว่า 52 ปี  บริษัทมีคำแนะนำให้สมัครใจลาออก โดยจะอนุมัติให้ออกตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564  ส่งผลให้มีนักบินเหลือที่จะปฏิบัติงานรวม 905 คน จากปัจจุบันที่มีนักบินรวม 1,300 คน  ในช่วงปี 2564-2565 จะไม่มีการเพิ่มจำนวนนักบินอีก โดยวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัทจะประกาศรายชื่อนักบิน ที่บริษัทเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ  905 คน โดยจะใช้เกณฑ์ในการประเมิน และคัดเลือกโดยพิจารณาจากประสิทธิภาพการทำงานด้านต่างๆ

นอกจากนี้ บริษัทจะทำปรับโครงสร้างเงินเดือนของนักบินใหม่ทั้งหมด โดยจะปรับลดอัตราเงินเดือนลง 15-20% ตามตลาดความต้องการนักบินทั่วโลกที่ปรับลดลง หลังจากอุตสาหกรรมการบินต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยบริษัทจะให้นักบินทั้ง 905 คน ทำทำสัญญาจ้างฉบับใหม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight